การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ และจังหวัดตาก พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ส่งมอบรถแปรรูปสมุนไพรเคลื่อนที่ให้แก่โรงพยาบาลบ้านตากและสภาเกษตรกรจังหวัดตาก เพื่อดำเนินการแปรรูปสมุนไพรให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด
สร้างโอกาสและขยายผลผลิตพืชสมุนไพรไปสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ประธานมูลนิธิ ฯ เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฯ และพันธมิตร เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนได้เข้าถึงยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดตากให้อยู่ดี มีสุข พึ่งพาตนเองได้
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “สามหมื่นโมเดล” ในการแปรรูปสมุนไพรในพื้นที่เพื่อผลิตเป็นยาสมุนไพรคุณภาพสูง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการแปรรูปสมุนไพรเพื่อทำยารักษาโรค คือ การรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของสมุนไพร
โดยรถแปรรูปสมุนไพรดังกล่าว ช่วยผลิตและส่งต่อยาสมุนไพรที่มีคุณภาพสูงสู่มือของชาวบ้านและประชาชนทั่วประเทศได้อย่างมั่นใจ ซึ่งการันตีคุณภาพยาสมุนไพรโดยมาตรฐาน GMP : Good Manufacturing Practice จากกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานฮาลาล
นอกจากนี้ มูลนิธิ ฯ ยังได้ร่วมกับ กฟผ. ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการปลูกและจำหน่ายสมุนไพรอินทรีย์ รวมทั้งให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีสามารถเข้าถึงยาสมุนไพรที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. เผยว่า โครงการสามหมื่นโมเดลเป็นการขยายความร่วมมือของมูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ และเครือข่ายพันธมิตร ซึ่ง กฟผ. ได้สนับสนุนเรื่องการปรับปรุงระบบน้ำและระบบไฟฟ้าภายในรถแปรรูปสมุนไพรเคลื่อนที่ และดูแลระบบพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้กับรถแปรรูปสมุนไพร ฯ ให้มีความเสถียร
พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกสมุนไพรแนวทางเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา พื้นที่ใกล้เคียงชุมชนใต้แนวสายส่งแรงสูง และพื้นที่ชุมชนที่ กฟผ. ให้การสนับสนุน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ
โดยใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตร สร้างความเข้มแข็งในชุมชน รวมถึงส่งเสริมอาชีพของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเอง สอดรับกับแนวทางของ กฟผ. ในการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
สำหรับรถแปรรูปสมุนไพรเคลื่อนที่มีต้นแบบมาจากรถแปรรูปขมิ้นชันจากโครงการ “ลังกาสุกะโมเดล” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบไปด้วยเครื่องอบไมโครเวฟจำนวน 3 เครื่อง เครื่องหั่นสมุนไพรจำนวน 1 เครื่อง เครื่องสลัดน้ำจำนวน 1 เครื่อง นอกจากจะนำมาใช้แปรรูปฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังได้ออกแบบให้รองรับกระบวนการแปรรูปและอบแห้งพริกกะเหรี่ยงเป็นพริกป่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพริกกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดตาก
นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า การแปรรูปฟ้าทะลายโจรตามแนวทางของโครงการ “สามหมื่นโมเดล” ถูกต่อยอดขยายผลมาจากโครงการลังกาสุกะโมเดล โดยได้คำนึงถึงตลาดที่จะมารองรับผลผลิตการแปรรูปจากพืชสมุนไพร
และมีการเชื่อมโยงแผนกงานผลิตยาแปรรูปจากสมุนไพรของโรงพยาบาลบ้านตาก และบริษัท ทิปโก้ ไบโอเทค จำกัด ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อกำหนดปริมาณและคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสและขยายผลแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตพืชสมุนไพรไปสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดตาก และพื้นที่อื่น ๆ ในวงกว้างตามบริบทพื้นที่ต่อไป