เปิดวิธีช่วยเด็กจมน้ำภัยหน้าร้อน ต้องทำอย่างไง อ่านที่นี่

08 เม.ย. 2566 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 08:47 น.

เปิดวิธีช่วยเด็กจมน้ำภัยหน้าร้อน ต้องทำอย่างไง อ่านที่นี่มีคำตอบ หมอจิรรุจน์ชี้ไม่อุ้มเด็กพาดบ่า กระแทกเพื่อเอาน้ำออกจากตัว แนะการ์ดที่ดูแลสระต้องได้รับการอบรมการทำ CPR เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise โดยมีข้อความระบุว่า หน้าร้อน ภัยเกี่ยวกับเด็กจมน้ำกำลังมา 

หมอจิรรุจน์ จึงแนะนำวิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเจอเด็กจมน้ำ ประกอบด้วย  

  • ไม่อุ้มเด็กพาดบ่า กระแทกๆ เพื่อเอาน้ำออกจากตัว นี่เป็นสิ่งที่แรกที่เวลาผมสอน CPR ต้องบอกว่า "อย่าทำ" เพราะ นอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังเสียเวลาในการช่วยให้เด็กกลับมามีหัวใจเต้นอีกครั้งด้วยการทำ CPR  
  • หากช่วยขึ้นมาแล้ว ปลุกไม่ตื่น ปากเขียว คลำชีพจรที่คอ หรือขาหนีบไม่ได้ ใน 10 วินาที ให้เริ่ม CPR ทันที ดังนั้น การ์ดที่ดูแลสระต้องได้รับการอบรมการทำ CPR (Basic life support) สิ่งนี้จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้ผู้จมน้ำได้อย่างมาก ระหว่างนั้น ผู้ที่มาช่วย ควรประสาน 1669 เพื่อขอควาามช่วยเหลือนำส่ง รพ.
     

สำหรับผู้ปกครองที่ต้องเฝ้าลูกเล่นน้ำในสระ หรือ อ่างสิ่งสำคัญมากๆ คือ ต้องสังเกตเด็กที่เล่นน้ำให้ดี 

เพราะลักษณะของเด็กที่กำลังจะจมน้ำ บางครั้งเด็กไม่มีการตะโกนร้องให้ช่วยออกมา  

แต่จะมีลักษณะดำผุดดำว่าย อยู่ตรงที่เดิม พยายามจะพาหัวให้พ้นน้ำ 

นั่นเป็นสัญญาณที่ต้องจับให้ได้ และรีบให้การช่วยเหลือก่อนจะจมลงและหมดสติในที่สุด 

เพราะระยะเวลาที่เด็กขาดอากาศหายใจ หากยิ่งสั้นเท่าไหร่ นั่นหมายถึง ผลกระทบต่อสมองก็จะลดลงตามกันไป 

หมอจิรรุจน์ ย้ำว่า ยิ่งหากช่วยขึ้นมาแล้วหมดสติ ยิ่งต้องรีบทำ CPR อย่าห่วงการเอาน้ำออกจากท้องจากปอด เพราะในภาวะหัวใจหยุดเต้น สิ่งที่เด็กต้องการคือ 

การกดหน้าอก+ช่วยหายใจอย่างเหมาะสม (การ CPR ที่ถูกต้อง)

 

ยิ่งทำเร็ว ทำถูก ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมาหลังฟื้นคืนชีพ (Return of Spontaneous Circulation-ROSC)  

หน้าร้อนทุกปี เราจะเจอเด็ก-ผู้ใหญ่จมน้ำตลอด 

การทำ CPR ถูกต้อง-รวดเร็วจึงจำเป็นมากๆ