ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ “ประเทศไทย” เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (super-aged society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีเกิน 28% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2574 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในมิติธุรกิจและแรงงานโดยเฉพาะ GEN Y
ที่ต้องแบกรับภาระทั้งความรับผิดชอบของตนเองรวมถึงผู้สูงอายุในครอบครัว ส่งผลให้ “ธุรกิจเฉพาะทางสำหรับผู้สูงวัย” เติบโตชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่มีบริการทางการแพทย์และบริการดูแลผู้สูงวัย เพื่อลดภาระด้านเวลาของลูกหลาน
หนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่เข้ามาปักหมุดในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ คือ กลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ซึ่งรุกพัฒนาโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เป็นโปรเจ็กต์นำร่องเปิดตลาด พร้อมโมเดลโรงพยาบาลภายในศูนย์โดยมี “รพ.ธนบุรีบูรณา” (THbu) และ “จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์” ให้บริการเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ และลงทุนเปิด “ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ” (THV) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยพักฟื้น พร้อมที่พักมาตรฐานโรงพยาบาลเพื่อรองรับ “Aging Society” และเป็นจุดขายที่ทำให้ THG แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
นายทิมโมตี้ อีเมน เลิศสมิติวันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด เจ้าของโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการที่พักอาศัย หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้ว ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “โรงพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุ” ซึ่งภายในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จะมีโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา (THbu) และจิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์ ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้พักอาศัยและเคสส่งต่อจากนอกโรงพยาบาล
“THG ตอบรับสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเตรียมธุรกิจนี้ล่วงหน้าเรียกได้ว่าเป็นรายแรกๆ ที่ทำตรงนี้ขึ้นมารองรับตั้งแต่เริ่มเห็นว่าเทรนด์เรื่องนี้กำลังจะมาโดยทำการยกระดับตามมาตรฐานทางการแพทย์ให้กับ “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้” ด้วย “รพ.ธนบุรีบูรณา” ซึ่งเป็นเซกเม้นท์โรงพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุที่ระดับสูงกว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั่วไป สามารถให้การรักษาดูแลได้ขั้นสุดทุกประเภทของผู้สูงอายุ
โดย THG ได้วาง Position ชัดเจนที่จะให้ รพ.ธนบุรีบูรณา เป็นรพ.ที่คอยซัพพอร์ตโครงการสามารถดูแลผู้ป่วยสูงวัยได้ตั้งแต่กลุ่ม critical care กลุ่ม palliative care จนถึง End of life care ส่วน ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ประชาอุทิศ เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั้งแบบทั่วไปและผู้ป่วยติดเตียงสามารถรองรับเคสหนักที่เกินกว่าศักยภาพของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอื่นทำได้และส่งต่อมาได้ที่นี่ ซึ่งที่ผ่านมาด้วยความชำนาญของทั้งสองแห่งสามารถช่วยฟื้นฟูให้คนไข้ติดเตียงหลายรายสามารถขยับขึ้นมาใช้วีลแชร์ หรือ กลับมาเดินได้อีกครั้ง”
ทั้งนี้ รพ.ธนบุรีบูรณา สามารถรองรับคนไข้ได้ 42 เตียงและ Rehab ward 13 เตียง ปัจจุบันมีอัตราคนไข้ครองเตียง 30 เตียง โดยมาจากการหาข้อมูลเองของคนไข้และญาติที่ต้องการการดูแลพักฟื้นและฟื้นฟูระยะยาว การบอกปากต่อปาก รวมทั้งลูกค้าเดิม และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีอัตราคนไข้ครองเตียงเต็ม 100% สำหรับการลงทุนในปีนี้ รพ.ธนบุรีบูรณา จะเพิ่มการลงทุนใน 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 เป็นการลงทุนใน Active ward เนื่องจากก่อนหน้านี้ เน้นการดูแลและฟื้นฟูเป็นหลัก หากผู้สูงอายุมีอาการหนักจะส่งต่อโรงพยาบาลอื่น การลงทุนใน Active ward จะทำให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้เข้มข้นขึ้น เพราะมีความสามารถเทียบเท่ากับ SEMI ICU ซึ่งจะลดอัตราการ Refer Out คนไข้ได้และสามารถดูแลคนไข้ได้ถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต
ส่วนที่ 2 เป็นการลงทุนสำหรับคนไข้ทั่วไปซึ่งมีสัดส่วน 80% เป็นการรักษาระยะยาว โดยจะลงทุนเพิ่มทั้งในส่วนของอุปกรณ์ในฝั่งของ Rehab ward ที่รวมทั้งเพิ่มอุปกรณ์สำหรับกายภาพเพื่อช่วยฟื้นฟูคนไข้ และอีกส่วนคือการลงทุนในบุคลากร ทั้งเพิ่มแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้อง
“นี่คือความต่าง ไม่มีศูนย์ผู้สูงอายุที่ใดลงทุน หรือ ทำในส่วนนี้แน่นอน เราทำให้คนไข้ได้รับการดูแลแบบ holistic care พร้อมกับจิตแพทย์เพราะ “การเสื่อมของร่างกายตามช่วงอายุไม่ใช่โรคที่สามารถรักษาหายได้วันหนึ่งทุกคนต้องจบชีวิตลง” ซึ่งตอนนี้แม้ว่าโรงพยาบาลทั่วไปจะไม่ค่อยเข้ามาในเซกเม้นท์นี้มากนัก แต่การแข่งขันถือว่าสูง เพราะเราเห็นลูกค้าเริ่มหาข้อมูลและเปรียบเทียบโรงพยาบาลผู้สูงอายุเกิน 10 แห่งแล้วค่อยตัดสินใจ
แต่เราเชื่อว่า เซกเม้นท์โรงพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุยังแข่งขันได้เพราะยังไม่มีใครทำครบวงจรแบบเรา การที่จะขอมาตรฐาน หรือใบอนุญาตโรงพยาบาลยากกว่าการทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นเรายังแข่งได้โดยใช้ความได้เปรียบในการให้บริการขั้นสูงสุดในการดูแลผู้สูงอายุ และรักษากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ไว้ เพราะเราไม่สามารถลงไปแข่งขันด้านราคาได้
ในฐานะที่เรามีแพทย์เฉพาะทาง มีการเซอร์วิสแบบโรงพยาบาล ซึ่งจะมีผู้ประกอบการแข่งในตลาดตรงนี้น้อยกว่า นอกจากนี้เรายังมีนโยบายรับคนไข้ Long Term Care จากต่างชาติ รวมทั้งเคสคนไข้ต่างชาติที่มาพักฟื้นหลังผ่าตัดซึ่งในเซกเม้นท์ของโรงพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุ เราเป็นที่แรกที่ได้มาตรฐาน AACI ทำให้เรามีโอกาสได้ลูกค้าต่างชาติเพิ่มเข้ามาในอนาคต”
ทันตแพทย์หญิงปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ “ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ” (THV) ประชาอุทิศ ในเครือ THG กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ด้วยอัตราการเกิดที่น้อยลงทำให้ลูกหลานใน Gen Y มีภาระมากขึ้นเนื่องจากต้องดูแลทั้งตัวเอง ครอบครัวและผู้สูงอายุในบ้านที่มีโรคประจำตัว ทำให้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาท
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเริ่มมีกฎหมายรองรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดนี้อย่างคึกคักโดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมต่อยอดธุรกิจได้ทันที ขณะที่โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับสินทรัพย์ที่มีเป็นศูนย์ดูแลศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแทนกิจการเดิมที่ซบเซาลงในช่วงโควิด เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆจากสังคมสูงวัยที่กำลังจะเติบโตในอนาคตต่อไป
“ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง การมีบุคลากรและจัดสรรสภาพแวดล้อมให้ตรงกับข้อกฎหมายไม่ยาก แต่สิ่งสำคัญที่ชี้ขาดคือการบริการที่มีจุดเด่นต่างกัน สำหรับ THV จุดเด่นคือ มีพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับการฝึกอบรมจากโรงเรียนที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ
ทำให้มีจิตสำนึกของการดูแลผู้สูงวัยแบบมืออาชีพ นอกจากนี้ยังดูแลผู้สูงอายุเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีหมอ-พยาบาล ทำให้สามารถรับคนไข้หนักได้ทันที ซึ่งปัจจุบันคนไข้ THV เป็นคนไข้ติดเตียงประมาณ 80% ที่มาจากการบอกต่อกัน และการแนะนำของคุณหมอจากโรงพยาบาลต่างๆ”
ทั้งนี้ปัจจุบัน THV สามารถรองรับคนไข้ได้ 260 เตียง ในระยะ 2 ปีที่เปิดบริการมีคนไข้หมุนเวียนประมาณ 200 เคส นอกจากบริการทางการแพทย์ THV ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งห้องสตรีม ห้องซาวน์น่า โดยในปีนี้จะมีการลงทุนปรับปรุงสระว่ายน้ำให้เป็นระบบธาราบำบัดน้ำอุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนเมษายน รวมทั้งลงทุนในเรื่องของเวลเนสเพิ่มเติมในส่วนการนวดผ่อนคลาย การนวดสปาและขยายให้ครบวงจรในอนาคต เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ
“ด้านแผนการตลาดต้องคำนึงถึงครอบครัวและคนไข้ให้สัมพันธ์กับสภาพทางเศรษฐกิจ จึงต้องวางตำแหน่งศูนย์ดูแลผู้สูงวัยให้อยู่ในระดับกลาง ราคาเริ่มต้นไม่สูงมากนัก โดยจะช่วยประเมินคนไข้ที่เข้ามาในแต่ละเคสว่าจะต้องดูแล หรือ เพิ่มเติมบริการพิเศษอะไรบ้างและคำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ญาติสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตัวเองได้ด้วย”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,875 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2566