15 เมษายน 2566 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ล่าสุด มีการรายงานการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย และยังพบ XBB.1.16.1 ในไทยอีก 1 ราย เป็นสายพันธุ์ที่แตกแขนงจาก XBB.1.16 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้ว
ทั้งนี้ ทั่วโลกรายงานผู้ติดเชื้อโควิดลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 887 คน พบที่อินเดียมากที่สุด 539 คน
สำหรับ โควิดลูกผสม XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม 3 ตำแหน่ง คือ E180V K478R และ S486P ทำให้สามารถเกาะติดและติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก
การกลายพันธ์ในตำแหน่ง K478R อาจทำให้สายพันธุ์นี้เอาชนะแอนติบอดีจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโตเหนือกว่า XBB.1.5 ถึงร้อยละ 159 ขณะที่พบว่า อาการของโควิด XBB.1.16 จะแตกต่างจากโควิดก่อนหน้านี้ โดยจะมีอาการ ไข้สูง ไอ และเยื่อบุตาอักเสบตาแดง ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน และส่วนใหญ่อาการนี้จะพบได้ในเด็กมากขึ้น
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อ XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารก พบมีอาการไข้สูง อาการหวัด และไอ
จากนั้นพบอาการเด่น คือ มีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นแต่ไม่ได้เป็นหนองซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้น ถือเป็นสายพันธ์ุม้ามืดที่แพร่เร็ว แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้ จึงต้องติดตามเฝ้าระวัง เป็นการตระหนักแต่ไม่ตระหนก
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสายพันธุ์โควิดลูกผสม XBB.1.16 ที่ขณะนี้มีการแพร่มากขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะที่อินเดีย พบมีสมรรถนะการแพร่ที่สูงขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ทั้งยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนว่า สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16 ยังเป็นลูกหลานจากตระกูลโอมิครอน ไม่เหมือนสายพันธุ์ในอดีตที่เป็นตัวต้นตระกูลที่กลายพันธุ์ทั้งอู่ฮั่น อัลฟา เบตา เดลตา
ดังนั้น วัคซีนที่ฉีดยังป้องกันการป่วยหนักได้แน่นอนแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % ดังนั้น จึงได้รณรงค์เน้นย้ำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง