"โรคพิษสุนัขบ้า" เกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาลแต่ต้องระมัดระวังอย่างมากในช่วงหน้าร้อนเพราะอากาศที่อบอ้าวอาจทำให้สุนัขเกิดอาการหงุดหงิดและกัดกันได้ง่ายกว่าช่วงฤดูกาลปกติ
สำหรับผู้ประกันตนหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า สำนักงานประกันสังคม จัดให้มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับผู้ประกันตน ณ สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งสามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งก่อนและหลังโดนกัด
กรณีผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ให้สำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วยื่นเรื่องเบิกเงินคืนได้สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรก
ทั้งนี้ เนื่องจากโรคดังกล่าวไม่แสดงอาการทันทีหลังถูกกัดหากแสดงอาการป่วยแล้วจะไม่มีทางรักษา อัตราการเสียชีวิต 100%
ดังนั้น เมื่อถูกกัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันทีเพื่อป้องกันไวรัสเข้าสู่ระบบประสาทหรืออย่างช้าภายใน 2 วัน และฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดอย่างเคร่งครัด
เงื่อนไขการเข้ารับบริการฉีดวัคซีน มีดังนี้
1.กรณีฉุกเฉินไม่สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ให้ผู้ประกันตนสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วยื่นเรื่องเบิกเงินคืนได้ "เฉพาะเข็มแรก" เท่านั้น ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และ
2.เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผู้ประกันตนไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการทันทีหลังถูกกัด ต้องรอเวลาระยะฟักตัวของโรค โดยเฉลี่ย 2-8 สัปดาห์ อาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ได้ ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์ ระบุว่า มีระยะฟักตัวเป็นปีซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นทางเข้าของเชื้อ เช่น ถ้าถูกสัตว์กัดบริเวณใบหน้า ระยะฟักตัวจะสั้นเนื่องจากอยู่ใกล้สมอง หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก ๆ เช่น มือ เป็นต้น
เมื่อแสดงอาการป่วยแล้วจะไม่มีทางรักษา อัตราการเสียชีวิต 100% จึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันทีหรืออย่างช้าภายใน 2 วัน เมื่อถูกกัดและฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ดี กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยให้มีการบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังโรคเชิงรุกและสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ตั้งเป้าการฉีดแก่สุนัขและแมวอย่างน้อยร้อยละ 80 ดำเนินการเก็บตัวอย่างสัตว์ที่แสดงอาการสงสัยส่งตรวจวินิจฉัยทุกตัว ประสานหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อเร่งรัดให้ผู้สัมผัสและบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รับการรักษาและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า