บอร์ด สปสช. ปรับหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ "ถุงทวารเทียม" 

13 พ.ค. 2566 | 06:30 น.

บอร์ด สปสช. ปรับหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ "ถุงทวารเทียม" ให้เป็นการเบิกจ่ายผลิตภัณฑ์ แทนการจ่ายชดเชยเป็นเงินให้กับหน่วยบริการ หลังมีประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมใหม่พร้อมจัดสรรงบดำเนินการ 34.8 ล้านบาทดูแลผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2566 นี้  

13 พฤษภาคม 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม

ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายรายการอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ (ถุงทวารเทียม : Colostomy Bag) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง 30 บาท" ในปีงบประมาณ 2566 โดยให้เป็นการจัดหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย และให้หน่วยบริการทำการเบิกจ่ายแทนการชดเชยเป็นเงิน ภายใต้วงเงิน 34.8 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ได้เคยมีมติเห็นชอบบรรจุสิทธิประโยชน์ถุงทวารเทียมไปแล้ว แต่ให้ สปสช. นำเสนอเรื่องนี้ต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาอีกครั้งหากมีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อเป็นการสนับสนุน

กระทั่ง ล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาทางสำนักงบประมาณได้ประกาศบรรจุให้ "แป้นปิดรอบลำไส้แบบเรียบ" และ "ถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้" เป็นผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทย
 
ดังนั้น สปสช. จึงนำเรื่องนี้เสนอต่อบอร์ด สปสช. อีกครั้งพร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายรายการอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้

จากเดิมที่ได้จ่ายชดเชยเป็นเงินกับหน่วยบริการในการจัดหาถุงทวารเทียมกันเอง เป็นการจัดซื้อรวมโดยเครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ โรงพยาบาลราชวิถี และกระจายให้กับหน่วยบริการเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดูแลผู้ป่วย 

"มติบอร์ด สปสช.วันนี้ ได้เห็นชอบให้ปรับแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษประจำปีงบประมาณ 2566 โดยเพิ่มรายการอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ฯ ตามบัญชีนวัตกรรมไทย 2 รายการ วงเงิน 34.8 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับในปีงบประมาณนี้" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ขณะเดียวกันยังมอบให้ให้ สปสช. ดำเนินการเพิ่มกลไกการกระจายผลิตภัณฑ์ให้กว้างขวางนอกเหนือจากระบบเดิมเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์อย่างสะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ให้มีระบบกำกับติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมผ่านรูปแบบคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามคุณภาพ ผลกระทบต่อผู้ป่วย สำหรับการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ถุงทวารเทียม สปสช. ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 หรือเริ่มในปีงบประมาณ 2562 ด้วยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องใช้ถุงทวารเทียม โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้ ส่งผลต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้วยในวันนี้มีผลิตภัณฑ์ "แป้นปิดรอบลำไส้แบบเรียบ" และ "ถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้" ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้วมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีเพื่อเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมของไทยตามนโยบายรัฐบาลจึงได้เสนอต่อบอร์ด สปสช. และมีมติเห็นชอบในวันนี้ เลขาธิการ สปสช. กล่าว