18 พฤษภาคม 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเฝ้าติดตาม "FU.1" หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของ XBB.1.16 ซึ่งพบมีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยไทยพบแล้ว 1 คนว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทย์ฯ รายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID
ทั้งนี้ ทางกรมมีการติดตามและสุ่มตรวจถอดรหัสสายพันธ์ุอย่างต่อเนื่องเท่าที่ติดตามแม้จะมีการแพร่ระบาดเร็วแต่ยังไม่พบความรุนแรงของโรคจนส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมาก ทั้งนี้การแพร่ระบาดเร็วอาจจะมาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมมากของผู้คนที่มีมากขึ้น
รวมถึงคนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง เนื่องจากบางคนก็เห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่อยากให้กังวลเพราะธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธ์ุ ไปหลายสายพันธ์ุจำนวนมาก กรมยังติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด19 ว่า ขณะนี้โควิดกำลังขึ้นตามที่เราคาดการณ์ไว้เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพราะโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเพราะคนถอดหน้ากาก และมีกิจกรรมกันมากมาย
ประกอบกับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลงเพราะคนฉีดวัคซีนมานาน หลายคนฉีดวัคซีนเกิน1 ปีหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่ม ดังนั้น ยังจำเป็นมีมาตรการ เช่น
1.ต้องการให้คนทุกคนมีภูมิคุ้มกันเรียกว่า สูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะเป็นโอมิครอนที่ทำให้มีอาการน้อยก็ตามแต่หากภูมิคุ้มกันน้อยและเป็นกลุ่มเสี่ยง
เมื่อภูมิคุ้มกันไม่พอก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้น จึงต้องรณรงค์ต่อเนื่องคนกลุ่มเสี่ยงขอให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ แอนติบอดีสำเร็จรูป LAAB
2.กรณีกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อขอให้รีบไปพบแพทย์ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาให้ทัน
3.เฝ้าระวังต่อเนื่อง ในกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะที่เป็นคัตเตอร์หรือกลุ่มต่างชาติซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดูแลร่วมกันหากมีคัตเตอร์หรือกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาก็จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเชื้อตรวจหาสายพันธุ์
อย่างกรณีชาวต่างชาติได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนในการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาสายพันธุ์เช่นกัน สำหรับตอนนี้โควิดยังเป็นสายพันธุ์ XBB ยังไม่ใช่ตัวใหม่ ซึ่งเราก็ติดตามต่อเนื่อง
"วันนี้มีการเปิดเทอมวันแรก ดังนั้น กลุ่มเด็กจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังและคาดว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้มีข้อแนะนำผ่านกระทรวงศึกษาธิการไปถึงโรงเรียน
หากพบเด็กที่มีอาการก็ขอให้ตรวจ ATK โดยเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดเรียนขึ้นอยู่กับมาตรการของโรงเรียนนั้นว่า หากไม่มีอาการมากสามารถแยกห้องเรียน หรือแยกไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น ๆ หากติดเชื้อเป็นกลุ่มก็สามารถแยกห้องในการเรียนการสอนหรือเรียนออนไลน์ได้ อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานการณ์และโรงเรียนจะออกมาตรการ นพ.จักรรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การรับประทานอาหารหากเป็นเด็กเล็กก็จะเป็นการมีกิจกรรมเล่นกันก็ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีรายงานการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ประปรายเข้ามาที่กรมควบคุมโรค ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด อย่างในโรงเรียนก็จะเป็นระดับประถมศึกษาแต่กลุ่มเด็กไม่ได้น่าห่วงมากในเรื่องของความรุนแรงเพราะอาการไม่มากและหายได้
ที่น่าห่วง คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่เด็กลูกหลานจะนำเชื้อไปติดปู่ย่าตายาย ซึ่งหากกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะเสี่ยงอาการรุนแรงและอันตรายได้ดังนั้นหากผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อขอให้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวจะดีที่สุด
ส่วนกรณีการรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือบุฟเฟ่ต์ต่าง ๆ มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น หากเรามีภูมิคุ้มกันก็จะช่วยเรื่องป้องกันอาการรุนแรงได้