"COVID Rebound" คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน รักษายังไง เช็คเลยที่นี่

04 มิ.ย. 2566 | 03:57 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2566 | 03:58 น.

"COVID Rebound" คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน รักษายังไง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระชี้ไม่ใช่เป็นการติดเชื้อซ้ำ ระบุเกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัส หรือไม่ได้กินยาต้านไวรัส

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุถึง COVID Rebound ว่า

ความหมายของ Rebound

Rebound ในที่นี้แปลว่า "การเป็นกลับซ้ำ หรือปะทุกลับขึ้นมา" ไม่ใช่ "ติดเชื้อซ้ำ (Reinfection)" ดังนั้นต้องไม่สับสน ระหว่าง Rebound กับ Reinfection

Rebound หรือการเป็นกลับซ้ำนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัส หรือไม่ได้กินยาต้านไวรัส

ลักษณะของการเป็นกลับซ้ำ

การเป็นกลับซ้ำ เกิดได้ 2 รูปแบบ จะเกิดพร้อมกันหรือเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ได้แก่ 

  • ปริมาณไวรัสในร่างกายปะทุสูงขึ้นมา หลังจากที่ติดเชื้อแล้วได้ยาต้านไวรัสจนปริมาณไวรัสลดลง หรือเวลาผ่านไปแล้วดีขึ้นจนไวรัสลดลง จนตรวจได้ผลเป็นลบ แต่กลับมีปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จนตรวจพบผลบวกกลับมาใหม่ เรียกว่า "Viral rebound"
  • อาการกลับเป็นซ้ำ กล่าวคือ ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย ต่อมาได้รับยาจนดีขึ้นหรือหายป่วย หรือเวลาผ่านไปแล้วอาการดีขึ้นหรืออาการหมดไป แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็กลับมีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่หรือแย่ลง เรียกว่า "Symptom rebound"

โอกาสเกิด Rebound นั้นมีประมาณ 5-10% ในคนที่ติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส

ขณะที่คนที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสนั้น งานวิจัยของทีม Harvard Medical School พบว่ามีโอกาสเกิด Viral rebound 12%, (ราว 1 ใน 8 ) และ Symptom rebound ได้มากถึง 27% (ราว 1 ใน 4)

COVID Rebound คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน รักษายังไง

ช่วงเวลาที่พบการเป็นกลับซ้ำ

  • โดยเฉลี่ยแล้ว การเป็นกลับซ้ำเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วง 2-8 วัน หลังจากตรวจได้ผลลบ หรือหลังจากอาการทุเลาหรือหมดไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเป็นกลับซ้ำ

  • จากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะตรวจแล้วพบว่าผลบวกกลับมาซ้ำ (ขึ้น 2 ขีด) หรือมีอาการกลับซ้ำขึ้นมา ก็มักสะท้อนว่าคนคนนั้นยังมีภาวะติดเชื้ออยู่และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นเราจึงเห็นกรณีผู้ป่วยที่เกิด Rebound ในต่างประเทศ ที่ต้องเริ่มแยกตัวใหม่อีกครั้งเพื่อป้องกันไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
     

การปฏิบัติตัวกรณีเกิดเป็นกลับซ้ำ

  • แม้จะยังไม่มีงงานวิจัยจำเพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ระยะเวลาที่ควรแยกตัวนั้น ควรเป็นไปดังความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ว่า ดีที่สุดคือการแยกตัวจากคนอื่น 2 สัปดาห์ แต่หากจำเป็นต้องกลับไปทำงานหรือศึกษาเล่าเรียน การแยกตัวควรทำอย่างน้อย 10 วัน และต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการป่วยและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ
  • แต่หากแยกตัวเพียง 5 วัน หรือ 7 วัน โอกาสที่ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อและแพร่ต่อผู้อื่น อาจมีได้ถึง 50% และ 25% ตามลำดับ จึงไม่แนะนำให้แยกตัวช่วงเวลาสั้นเช่นนี้ เพราะจะมีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อในชุมชน

ความรุนแรงจากการเป็นกลับซ้ำ

  • ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ Rebound มีแนวโน้มที่จะไม่รุนแรงจนต้องทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต 

การรักษา

  • หากพบว่าเกิด Rebound ให้รักษาตามอาการ ประคับประคองจนผ่านพ้นระยะเวลาแยกตัว ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสซ้ำ แต่หากมีปัญหาเจ็บป่วยรุนแรง การให้ยาต้านไวรัสและอืนๆ ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษา