"กรมการแพทย์"ยันดื่มน้ำเปล่าไม่ช่วยป้องกัน"ภาวะหัวใจล้มเหลว"

08 มิ.ย. 2566 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2566 | 09:31 น.

"กรมการแพทย์"ยันดื่มน้ำเปล่าไม่ช่วยป้องกัน"ภาวะหัวใจล้มเหลว" หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับดื่มน้ำเปล่าช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว เตือนอประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูล และให้งดแชร์

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องดื่มน้ำเปล่าช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ สถาบันโรคทรวงอก ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับดื่มน้ำเปล่าช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว และต้องการชี้แจงว่า การดื่มน้ำเปล่าช่วงเช้าไม่สามารถป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวได้ 

สำหรับการป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ 

กรมการแพทย์ยันดื่มน้ำเปล่าไม่ช่วยป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว

  • การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • หมั่นตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังภาวะเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต เป็นต้น 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ดี การดื่มน้ำที่มากเกินไปในคนไข้หัวใจล้มเหลวอาจจะทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ ได้แก่ ขาบวมสองข้าง เหนื่อย นอนราบไม่ได้ 

ดังนั้นจึงควรจำกัดการดื่มน้ำตามที่แพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทาน
 

"ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือประชาชนให้งดแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จไปในช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆ"

บทสรุปของเรื่องดังกล่าวนี้คือ การดื่มน้ำเปล่าช่วงเช้าไม่สามารถป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวได้ และการดื่มน้ำที่มากเกินไปในคนไข้หัวใจล้มเหลวอาจจะทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ ดังนั้นจึงควรจำกัดการดื่มน้ำตามที่แพทย์แนะนำ