ผลวิจัยชี้ชัดฉีดวัคซีนครบโดสลดเสี่ยง "Long COVID" ได้ 43%

19 มิ.ย. 2566 | 02:18 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 02:18 น.

ผลวิจัยชี้ชัดฉีดวัคซีนครบโดสลดเสี่ยง "Long COVID" ได้ 43% หมอธีระเผยปัจจุบันมีความรู้จากการวิจัยทางการแพทย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีวิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ โดยมีข้อความระบุถึงเรื่อง Long COVID (ลองโควิด) ว่า

อัพเดต Long COVID

เมื่อ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา British Medical Journal เผยแพร่บทบรรณาธิการ สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ Long COVID จากงานวิจัยปัจจุบัน

Ballouz T และคณะจากสวิสเซอร์แลนด์ ติดตามศึกษาธรรมชาติของภาวะ Long COVID พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่เกิด Long COVID นั้น มีประมาณหนึ่งในสี่ (23%) ที่อาการไม่ดีขึ้นแม้เวลาจะผ่านไป 6 เดือน

หมอธีระ บอกว่า ประมาณหนึ่งในห้า หรือ 19% ก็ยังมีอาการคงเดิม ณ 12 เดือน 

และประมาณหนึ่งในหก หรือ 17% อาการยังคงเดิม ณ 24 เดือน

โดยผลจากการศึกษานี้ก็สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ทั่วโลก ที่พบสัดส่วนการป่วยยาวนานในลักษณะเดียวกัน
 

จึงมีการสรุปว่า ถึงแม้คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วเกิด Long COVID นั้น 

ส่วนใหญ่อาจดีขึ้นภายใน 6-12 เดือนก็ตาม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่จะตกอยู่ในกลุ่มที่ไม่ดีขึ้นหลังผ่านมา 12 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาต่อเนื่องระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรู้จากการวิจัยทางการแพทย์ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่ามีวิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้แก่ การรับวัคซีน การได้ยาต้านไวรัส Paxlovid (แพ็กซ์โลวิด) หรือ Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) หรือ Ensitrelvir รวมถึงยา Metformin 

การฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น จะช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43%

ยา Metformin ช่วยลดได้ 42%

ยา Ensitrelvir ช่วยลดได้ราว 30-40%

ยา Paxlovid ช่วยลดได้ 26%

และยา Molnupiravir ช่วยลดได้ 14%
 

หมอธีระ ยังย้ำด้วยว่า กัญชา กัญชง อาหารเสริม สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร รวมถึงสิ่งเสพติด ยาผีบอกต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และไม่ควรหลงไปซื้อหาหรือนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่อ Long COVID ดังกล่าว

สถานการณ์ไทยเรา ยังมีการติดเชื้อกันมาก

ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก 

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด