รู้จัก “แอสปาร์แตม” หลังมีข่าว WHO เตรียมบรรจุเป็นสารก่อมะเร็ง

30 มิ.ย. 2566 | 23:41 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 00:18 น.

หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมบรรจุให้ “แอสปาร์แตม” เข้าบัญชีเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง เรามาทำความรู้จักสารให้ความหวานแทนน้ำตาลยอดนิยมชนิดนี้ กันให้มากขึ้น

 

แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็น สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำตาลเทียม เครื่องดื่มอัดลม หมากฝรั่งไร้น้ำตาล เป็นต้น จะเห็นว่า แอสปาร์แตมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งใกล้ตัว และเราก็บริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยแทบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

การค้นพบและคุณสมบัติทั่วไปของแอสปาร์แตม

แอสปาร์แตม หรือ APM ถูกค้นพบครั้งแรกด้วยความบังเอิญ เมื่อปี ค.ศ.1965 โดยเจมส์ แชลเตอร์ (James Schlater) ขณะทำการสังเคราะห์สารที่ใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยระหว่างทำการตกผลึก L-Aspartyl-L-phenylalanine methyl ester จากเอทานอล (ethanol) ปรากฏว่า สารละลายที่กำลังผสมหกรดมือ แต่เขาไม่ได้สนใจจึงไม่ได้ล้างมือ เมื่อเขาจะหยิบกระดาษกรอง เขาได้เลียนิ้วมือเพื่อให้หยิบกระดาษกรองได้ง่ายขึ้น พบว่า เมื่อเลียนิ้วมือ เขาได้รับรสหวานจากนิ้ว

แอสปาร์แตม หรือ APM ถูกค้นพบครั้งแรกด้วยความบังเอิญ

แอสปาร์แตมเป็นเมทิลเอสเทอร์ (methyl ester) ของไดเพปไทด์แอสพาทิลเฟนนิลอะลานีน (dipeptide aspartylphenylalanine) เตรียมได้จากกรดอะมิโน (amino acid) 2 ชนิด คือ กรดแอล-แอสปาร์ติก (L-aspartic acid) และ แอล-เฟนนิลอะลานีน (L-phenylalanine) ได้ผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ความสามารถในการละลายขึ้นอยู่กับ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และอุณหภูมิ

แอสปาร์แตมมีรสหวานคล้ายน้ำตาล แต่มีความหวานประมาณ 180-200 เท่าของน้ำตาล และเป็นรสหวานที่ติดลิ้นนานกว่ารสหวานที่ได้จากน้ำตาล หรือสารให้ความหวานชนิดอื่น ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะกับผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด แต่หากไม่ต้องการให้หวานติดนาน อาจปรับปรุงได้โดยการผสมแอสปาร์แตมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น หรือเติมเกลือบางชนิด เช่น อลูมินัมโปแตสเซีมซัลเฟต (aluminium potassium sulfate) หรืออาจลดปริมาณลงได้

แอสปาร์แตมเป็นโปรตีน เมื่อถูกเผาผลาญจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม ซึ่งเท่ากับน้ำตาล แต่เนื่องจากมีความหวานสูงกว่าน้ำตาลมาก ปริมาณที่ใช้จึงน้อยมาก ดังนั้น ปริมาณแคลอรีที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานจะต่ำมาก

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาสรรพคุณในเรื่องของแคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน เช่น น้ำตาลเทียม หมากฝรั่งไร้น้ำตาล ยาสำหรับเด็กบางชนิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมสูตรไดเอททั้งหลาย ซึ่งนำแอสปาร์แตมมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีแคลอรีต่ำ แต่มีความหวานเหมือนน้ำตาล สัดส่วนปริมาณแอสปาร์แตมที่ใช้ จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.055-0.090 ขึ้นอยู่กับชนิดและยี่ห้อของเครื่องดื่มอัดลม

แอสปาร์แตมนิยมใช้กันในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลม โดยเฉพาะสูตรไร้น้ำตาล

โทษของแอสปาร์แตม

แม้ว่าแอสปาร์แตมจะเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี แต่แอสปาร์แตมนั้นได้จากกระบวนการสังเคราะห์ ซึ่งแตกต่างจากน้ำตาลซึ่งได้จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ดังนั้น แอสปาร์แตมจึงเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง การที่จะบริโภคจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการขอใช้แอสปาร์แตมครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ เนื่องจากพบว่า ส่วนประกอบที่เป็นกรดอะมิโนของแอสปาร์แตมนั้น ทำให้สัตว์ทดลองเกิดภาวะผิดปกติเมื่อบริโภคในปริมาณสูง แต่หลังจากที่ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาใหม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการอนุญาตให้ใช้แอสปาร์แตมได้ในปี ค.ศ.1981

จากนั้น ในปีเดียวกันแคนาดาได้อนุญาตให้ใช้แอสพาร์แตมในอาหารต่างๆ เช่นกัน และในเวลาต่อมาก็ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้เแอสปาร์แตมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับผลของการใช้แอสปาร์แตมกันมากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งผลการศึกษาที่ออกมาในเชิงคัดค้านการนำแอสปาร์แตมมาใช้ โดยกล่าวว่า แอสปาร์แตมสามารถสลายตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง กลายเป็นสารพิษและองค์ประกอบที่เป็นอันตรายอื่นๆ เช่น เมธานอล (methanol) ดีเคพี (DKP หรือ difetopierzine) และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

เคยมีการศึกษาในอิตาลีช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 ที่ระบุว่า โรคมะเร็งที่พบในหนูทดลองมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารแอสปาร์แตม

แอสปาร์แตมมีรสหวานคล้ายน้ำตาล แต่มีความหวานประมาณ 180-200 เท่าของน้ำตาล

และเมื่อปีที่แล้ว (2565) มีการศึกษาในฝรั่งเศส ที่เก็บข้อมูลของผู้ใหญ่ 100,000 คน พบว่า ผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในบริมาณมาก ซึ่งรวมถึงแอสปาร์แตม มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่บริโภคสารเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยกว่า

ล่าสุด 30 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตรียมบรรจุแอสปาร์แตม เข้าในรายการสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในเดือนก.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริโภค และผู้ผลิต ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก รอยเตอร์ / คลังความรู้ SciMath