กินยาแก้ปวดหัวมากยิ่งปวดหัว เพราะอะไร ต้องกินยังไง เช็คเลยที่นี่

06 ก.ค. 2566 | 05:21 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 05:22 น.

กินยาแก้ปวดหัวมากยิ่งปวดหัว เพราะอะไร ต้องกินยังไง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์ห่วงเกิดโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น แนะผู้ป่วยไมเกรนใช้ยาขณะที่มีอาการปวดเท่านั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความเกี่ยวกับการกินยาแก้ปวดหัว ว่า 

ยิ่งกินยาแก้ปวดหัว ยิ่งจะปวดหัว

หมอธีระวัฒน์บอกว่า เราทุกคนอาจเคยปวดศีรษะสักครั้งหนึ่งของชีวิต ซึ่งเวลาปวดศีรษะเราก็จะกินยาแก้ปวดที่มีติดไว้ประจำบ้านบ้าน เช่น พาราเซตามอล หรือ ไปซื้อยาตามร้านขายยามารับประทาน 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญก็คือ ยาแก้ปวดเหล่านี้ปลอดภัยหรือไม่ แล้วจริงๆ ยาแก้ปวดเหล่านี้รับประทานบ่อย ๆ หายปวดทุกครั้งหรือไม่ และทำให้ปวดศีรษะได้มากกว่าเดิมจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาแก้ปวดที่เรารับประทาน ไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียวหากรับประทาน “มากเกินไป” ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอลที่มีผลต่อตับ

ยากลุ่ม NSAID (เช่น ibuprofen, naproxen ฯลฯ) ก็เป็นพิษต่อไต และทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารจนเลือดออกได้ 
 

หรือแม้แต่ยากลุ่ม ergot ที่พบกันในข่าวสารว่าสามารถทำให้มือหรือเท้าขาดเลือดถึงขั้นต้องตัดมือตัดเท้า 

อีกทั้งยาแก้ปวดศีรษะเหล่านี้ ถ้าใช้มากเกินไปหรือถี่เกินไปยังกลับทำให้อาการปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิม อาการปวดศีรษะแบบนี้เรียกได้ว่า “โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (Medication overuse headache)” หรือ “MOH”

โรค MOH คืออะไร และใครที่มีโอกาสเป็นโรค MOH บ้าง?

โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (MOH) มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคปวดศีรษะเป็นประจำอยู่เดิม เช่น โรคไมเกรน และรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไปจนทำให้อาการปวดศีรษะที่มีความถี่มากขึ้น หรือมีลักษณะอาการปวดศีรษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

สำหรับคำว่า มากเกินไป หรือ มากเกินความจำเป็น นั้น พบว่าหากเป็นยากลุ่มพาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAID มักหมายถึงการใช้ยาตั้งแต่ 15 วันต่อเดือนขึ้นไป 

แต่หากเป็นยาแก้ปวดกลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่น (opioid), ยากลุ่ม ergot หรือ ยากลุ่ม triptan จะหมายถึงการใช้ยาตั้งแต่ 10 วันต่อเดือนขึ้นไป นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะสังเกตอาการเพิ่มเติมได้ง่าย ๆ ว่ามีความเสี่ยงจะเกิดโรค MOH โดยผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดแล้วออกฤทธิ์สั้นลง หรือรับประทานแล้วไม่หายปวดศีรษะ

ทำไมยาแก้ปวดถึงทำให้ปวดศีรษะมากกว่าเดิมได้?

สำหรับกลไกการเกิดโรค MOH นั้นโดยสรุปแล้วเชื่อว่าเกิดจากการที่ใช้ยาแก้ปวดจำนวนมากเป็นระยะเวลาพอสมควร จะทำให้สมองกลับมีการสร้างตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อระดับยาแก้ปวดลดลงจะทำให้สมองเกิดความไวต่อความเจ็บปวดมากขึ้นโดยอัตโนมัติแม้ไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ

โรค MOH รักษาอย่างไร และจะต้องใช้ยาแก้ปวดอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่ให้เกิดโรค MOH?

หมอธีระวัฒน์ บอกว่าการรักษา MOH มีหลักการง่าย ๆ คือการหยุดยาแก้ปวดที่ทำให้เกิด MOH รวมถึงไปพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคปวดศีรษะเดิมให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหลักการที่ว่าง่ายนั้นในโลกความเป็นจริงกลับทำได้ยาก เนื่องจากการหยุดยาแก้ปวดมักจะทำให้ผู้ป่วยต้องทรมานจากอาการปวดอยู่ช่วงหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจะเป็นการดีกว่าหากเราป้องกันไม่ให้เกิด MOH ตั้งแต่ต้น โรค MOH นี้สามารถป้องกันได้ง่ายมากเพียงใช้ยาแก้ปวดให้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ในผู้ป่วยโรคไมเกรนควรใช้ยาแก้ปวดขณะที่มีอาการปวดเท่านั้น และใช้ยาแก้ปวดตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะแต่ละครั้ง 

ที่สำคัญที่สุดคือหากผู้ป่วยโรคไมเกรนมีอาการปวดศีรษะมากขึ้นหรือถี่ขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้ยาแก้ปวดมากจนใกล้เคียงกับปริมาณที่ทำให้เกิด MOH ได้ (ดังกล่าวข้างต้น) จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรคไมเกรนอย่างถูกต้องโดยการใช้ยาควบคุมหรือยาป้องกันอาการปวดศีรษะ 

ซึ่งเป็นยาคนละแบบกันกับยาแก้ปวด การใช้ยาควบคุมอาการปวดศีรษะนี้จะช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของการปวดศีรษะได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดมากนั่นเอง นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความถี่ของอาการปวดศีรษะเดิม เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงปัจจัยการตุ้นที่ให้ปวดศีรษะ ก็มีความสำคัญเช่นกัน

การที่โรค MOH ไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อาจเป็นสาเหตุรากเหง้าที่ทำให้ผู้ป่วยหลายคนใช้ยาแก้ปวดมากเกินโดยไม่รู้มาก่อนว่าจะทำให้ปวดศีรษะรุนแรงกว่าเดิมได้ ดังนั้นในปีนี้ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ถึงตระหนักในโรคปวดศีรษะโดยเฉพาะโรคปวดไมเกรน