3 โรคเฝ้าระวัง ที่มาพร้อมกับหน้าฝน พร้อมวิธีรับมือ

03 ส.ค. 2566 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 10:27 น.

เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งหนึ่งที่เราต้องพึงระวังเป็นพิเศษคือเรื่องของสุขภาพ เพราะแม้หน้าฝนจะนำพาอากาศที่เย็นสบายมาให้ แต่มันก็พกความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมายด้วยเช่นกัน

กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาแถลงว่า ช่วงหน้าฝนของประเทศไทยปีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม หรืออาจมีคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากปรากฏการณ์ ENSO(เอนโซ) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” ซึ่งปีนี้ปรากฏการณ์ภัยแล้งจากเอลนีโญทำให้ฤดูฝนของไทยมาช้ากว่าปกติ กรมอุตุฯจึงมีการคาดการณ์ว่าจะทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยลงกว่าปีที่แล้ว 5% 

ถึงแม้ปริมาณน้ำฝนจะลดน้อยลง แต่โรคที่ตามมากับช่วงหน้าฝนก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และต้องมีการป้องกันที่ดี ฐานเศรษฐกิจ ได้รวบรวม 3 โรคเฝ้าระวัง ที่มาพร้อมกับหน้าฝน พร้อมวิธีรับมือไว้ให้แล้ว ดังนี้

1. โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever)
หลังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาประกาศรายชื่อจังหวัดที่จะมีการแพร่ระบาดหนักของโรคไข้เลือดออก ทำให้ปริมาณของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ยอดผู้ป่วยสะสมและผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดของไข้เลือดออก ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค แม้โรคไข้เลือดออกจะไม่ได้เป็นโรคที่แปลกใหม่แต่อย่างใด แต่มันก็ยังคงมีการระบาดมากขึ้นทุกๆ ปี เราจึงจำเป็นต้องมีการรับมือ และหมั่นตรวจเช็กอาการของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาทันท่วงที

อาการเบื้องต้น
โรคไข้เดงกี (Dengue Fever) : การติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ

  • ปวดศีรษะ และกระบอกตา 
  • ปวดเมื่อยตามตัว ข้อต่อ และกระดูก
  • มีผื่นขึ้นตามตัว และอาจมีภาวะเลือดออก

โรคไข้เลือดออก (Dengue)

  • มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันในระยะเวลา 2-7 วัน
  • คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
  • หน้าแดง และอาจพบจ้ำเลือดและจุดแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง
  • อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และเลือดออกปนกับของเสียพ่วงด้วย

เมื่อรู้ตัวว่าเรามีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอาการรุนแรงตามมา และมีโอกาสเกิดภาวะช็อกจากภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือและเท้าเย็น ขับของเสียน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตต่ำ รวมถึงไม่สามารถวัดชีพจรได้

การวินิจฉัย
เนื่องจากอาการแรกเริ่มของโรคไข้เลือดออกมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ การวินิจฉัยจึงทำได้ด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือด ทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด รวมถึงความเข้มข้นของเลือด และจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกีต่อไป

การรับมือ
ทำได้ด้วยการทาครีมหรือฉีดสเปรย์กันยุงตลอดเวลา ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีน้ำขังและป่าไม้ รวมถึงพยายามไม่สร้างแหล่งแพร่พันธุ์ให้กับยุง อาทิ การรองน้ำใส่ถังโดยไม่ปิดฝา หรือการเปิดประตูและหน้าต่างทิ้งไว้

 

ภาพประกอบข่าว 3 โรคเฝ้าระวัง ที่มาพร้อมกับหน้าฝน

 

2. โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก สามารถเป็นได้ในทุกฤดูกาล และมักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza (อินฟลูเอนซา) ในระบบทางเดินหายใจ ทั้งยังเป็นโรคติดต่ออีกด้วย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ช่วงวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2566 ว่ามีผู้ป่วยกว่า 38,291 ราย คิดเป็นอัตรา 57.87 ต่อประชากรแสนคน จึงได้มีการประกาศให้ผู้คนออกมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2566 นี้ หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

อาการเบื้องต้น     

  • มีไข้สูง 39 - 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันหลายวัน  
  • มีอาการหนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น 

  • โรคปอดอักเสบ
  • โรคสมองอักเสบ

การวินิจฉัย
การระบาดของโควิด-19 เข้ามาสร้างความสับสนให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดเป็นอย่างมาก เพราะว่ามีกลุ่มอาการของโรคที่ใกล้เคียงกัน แม้การเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถหายได้เอง แต่ในกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต และ โรคเอดส์ ควรรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการ เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่าผู้ป่วยทั่วไป และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต

การรับมือ 
ทำได้ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการพบเจอกับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไข้หวัด เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะที่เกิดจากการไอ จาม หรือการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยได้เช่นเดียวกัน

 

ภาพประกอบข่าว 3 โรคเฝ้าระวัง ที่มาพร้อมกับหน้าฝน

 
3. โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease)
เมื่อหน้าฝนเข้ามาปกคลุมประเทศไทย โรคติดต่อที่ติดอันดับการเฝ้าระวัง หนีไม่พ้นโรคมือ เท้า ปาก โดยมักพบมากในเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเผยสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่ามีอัตราผู้ป่วยอยู่ที่ 261.305 ต่อแสนประชากร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ ยังไม่พบผู้เสียชีวิต 

อาการเบื้องต้น

  • มีไข้สูง 38 - 39 องศาเซลเซียส หลังจากโรคฟักตัวได้ 3 - 7 วัน 
  • ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ มีแผลในปาก
  • เกิดผื่นเป็นจุดแดง หรือแผลอักเสบมีหนองตามมือ เท้า และอาจมีขึ้นตามตัวร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

  • ซึม อ่อนแรง
  • มือสั่น เดินเซ
  • หายใจหอบ อาเจียน
  • กล้ามเนื้อกระตุก 
  • มีอาการชัก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงตามมาได้ อาทิ โรคก้านสมองอักเสบ โรคหัวใจอักเสบ และน้ำท่วมปอด หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสสายพันธุ์ 71(EV71) หรือเชื้อไวรัสที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก อาจทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

การวินิจฉัย
เนื่องจากส่วนมากโรคนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก อีกทั้งยังมีการแสดงอาการที่สามารถแยกออกจากกลุ่มอาการของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออกได้ไม่ยาก โดยสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยมีแผลในปาก และมีตุ่มหรือผื่นขึ้นตามมือและเท้า แต่อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้จากปริมาณการเกิดผื่นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า 

การรับมือ  
วิธีรับมือสามารถทำได้ด้วยการฉัดวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยแนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน - 5 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และให้ป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และทำความสะอาดสิ่งของส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่งของร่างกาย อาทิ น้ำมูก น้ำลาย และการหายใจรับเชื้อของผู้ป่วยคนอื่นเข้าไป รวมถึงยังสามารถติดต่อผ่านระบบทางเดินอาหาร จากน้ำที่ดื่มหรืออาหารที่ทานเข้าไปได้เช่นกัน และยังเป็นโรคที่สามารถเกิดซ้ำได้อีก 

 

ในปี 2566 โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และ โรคมือ เท้า ปาก เป็น 3 กลุ่มโรคที่ต้องให้ความสนใจและมีการเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มของการแพร่ระบาดมีปริมาณสูงขึ้นในหลากหลายพื้นที่ของไทย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น อีกหนึ่งโรคติดต่อที่ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังกันต่อไปก็คือ โรคโควิด-19 แม้ล่าสุดทางองค์การอนามัยโรค(WHO) จะออกมาเปิดเผยว่าสถานการณ์โควิด-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลกเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาด อีกทั้งในบางภูมิภาคยังคงต้องมีการเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

แม้ประเทศไทยจะมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค และจัดให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นการป้องกันอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อควบคุมอัตราการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป
 

 

 

แหล่งที่มา :

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ - โรคไข้เลือดออก 

โรงพยาบาลกรุงเทพ - โรคไข้หวัดใหญ่

โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ - โรคมือ เท้า ปาก