ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รองประธานกรรมการศิริราชมูลนิธิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยที่ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ High Cost High Technology อีกจำนวนมาก ศิริราชมูลนิธิ โรงพยาบาลศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้เปิดโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ “โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี 70 พรรษา เพื่อรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปี 2566 - 2568” โดยเริ่มโครงการ ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2568
ทั้งนี้ ศิริราชมูลนิธิ โรงพยาบาลศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ริเริ่มโครงการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Cost High Technology) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เพื่อการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส ถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 9 และร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
โครงการดังกล่าวนี้ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสจำนวนมาก ในโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงและจำเป็นต้องทำการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยากและผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยด้อยโอกาสหลายรายเป็นโรคมากกว่า 1 ชนิดที่จำเป็นต้องรับการรักษาและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อาทิ โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มะเร็ง เนื้องอกในไต ตับ ปอด และกระดูก โรคปอด โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินอาหาร มะเร็งในกระเพาะอาหาร นิ่วในท่อน้ำดี และโรคติดเชื้อร้ายแรงต่าง ๆ เป็นต้น
ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของศิริราชมูลนิธิและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลดังที่ได้กล่าวมาและแรกเริ่มดำเนินโครงการ ฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 - มิถุนายน 2561 และหลังจากจบโครงการ ฯ ดังกล่าว มีการขยายระยะเวลาของโครงการ ฯ มาอย่างต่อเนื่อง จนสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 9 และร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2559 จนถึงมิถุนายน ปี พ.ศ. 2566
โดยการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสที่ได้รับการอนุมัติในหลักการจะกระจายไปยัง 13 ภาควิชาและศูนย์ภาคีเครือข่ายย่อยต่าง ๆ อาทิ โครงการการรักษาผู้ป่วยโดยการใส่ลิ้นหัวใจ Pulmonary Valve ผ่านสายสวนหัวใจแทนการผ่าตัด ในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งต้องใช้งบประมาณเฉลี่ยสูงถึง 1,050,000 บาท/ราย
,โครงการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยการใช้ท่อค้ำยันชนิดพิเศษ (Flow Diverter) ที่ใช้งบประมาณเฉลี่ย 405,000 บาท/ราย ,โครงการการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของปอดและหัวใจผิดปกติรุนแรงเฉียบพลันด้วยเครื่องปอดและหัวใจเทียม ใช้งบเฉลี่ย 300,000 บาท/ราย
และโครงการการส่องกล้องทางเดินน้ำดี เพื่อรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น การสลายนิ่วในท่อน้ำดีด้วยเลเซอร์ผ่านกล้อง Digital single operator cholangiopancreatoscopy ใช้งบเฉลี่ย 140,000 บาท/ราย เป็นต้น
สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าร่วมในโครงการ ฯ ต้องเป็นผู้ป่วยที่ผ่านการวินิจฉัยโรคตามเกณฑ์ของคณะกรรมการโครงการ ฯ ตัดสินการรักษาพยาบาลที่มีความจำเป็นของผู้ป่วยที่มี High Cost High Technology ที่โรงพยาบาลทั่วไปทำไม่ได้ และเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินทางด้านเศรษฐฐานะแล้วว่าเหมาะ สมจะเข้าร่วมโครงการ ฯ จากนักสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลศิริราช และต้องเป็นผู้ป่วยที่ยินดีที่จะเข้าพักในหอผู้ป่วยสามัญเท่านั้น