ศ.คลินิก นพ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคเบาหวาน คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โรคเบาหวานสามารถส่งผลกระทบต่อหลายอวัยวะและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนจากโรค รวมถึงโรคไตเรื้อรัง
และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่นำไปสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือปลูกถ่ายไต โรคเบาหวานในประเทศกำลังพัฒนา ความชุกของภาวะไตวายในผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน 10 เท่า
สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวน 6.1 ล้านคน ที่เป็นโรคเบาหวาน โดยที่ 42.9% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีภาวะไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะสูง และ 6% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิด 2 มีการลุกลามของโรค จนทำให้ต้องฟอกเลือด ทำให้อัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่ง 25% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จะเกิดภาวะไตวายในปีที่ 10 และ 49% มีแนวโน้มการเสียชีวิตในปีที่ 1
"ปัจจุบันในไทยผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มพบในกลุ่มคนอายุน้อยมากขึ้นซึ่งต้องการให้ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน และมีภาวะโรคอ้วนจนซอกคอและรักแร้เป็นสีดำ ควรรีบตรวจคัดกรองให้ผู้ป่วยให้ดีควรมีการตรวจคัดกรองปัสสาวะเพื่อหาค่าโปรตีนไข่ขาวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยทุกสิทธิ สามารถร้องขอตรวจคัดกรองตามสิทธิ์ได้ทุกโรงพยาบาล"
ทั้งนี้ เนื่องจากในระยะแรกของโรคเบาหวานลงไต ผู้เป็นเบาหวานจะไม่มีอาการผิดปกติ การตรวจค้นหาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจะทำให้เริ่มการรักษาได้เร็ว ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นมากตามมา ผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจจอรับภาพของตา ตรวจปัสสาวะดูระดับไข่ขาวและตรวจเลือดดูการทำงานของไตปีละหนึ่งครั้งในกรณีที่ยังไม่เคยตรวจพบความผิดปกติมาก่อน และควรตรวจให้บ่อยขึ้นถ้าตรวจพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว
ศ.นพ. รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ประธานชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 2 ถึง 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายในอนาคตเท่ากับคนที่เคยมีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ไม่เป็นเบาหวาน นอกจากนี้เป็นกลุ่มที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตเรื้อรัง มักอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ มีข้อมูลอุบัติการณ์สะสมใน 10 ปี พบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ โรคไตเรื้อรัง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นทั้งสองโรคดังกล่าวจะมีความเสี่ยงสูงกว่า 2 และ 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่เป็น โรคไตเรื้อรัง เพียงอย่างเดียวหรือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังและหัวใจล้มเหลว ยังเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันเช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้การดำเนินไปของโรคเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
นพ. วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุของโรคไตที่พบได้บ่อยที่สุดมาจากเบาหวาน โดยพบว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ถึง 843 ล้านคน เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตและการเกิดโรคร่วม โดยมีประมาณ 1 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากโรคไตวายที่ไม่ได้รับการรักษา
สำหรับในเอเชียมีผู้ป่วย 434 ล้านคน สัดส่วน 15% หรือราว 65.6 ล้านคน เป็นโรคไตเรื้อรังระยะลุกลาม โดยมีอุบัติการณ์ ความชุก และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนของผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพทางกายลดลง และมีอาการซึมเศร้า คุณภาพชีวิตลดลง จากอาการปวดและเหนื่อยล้าแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายอีกด้วย ในประเทศไทยผู้ป่วยโรคไตระยะต่างๆ ประมาณ 9 ล้านคน คิดเป็น 17.5% ของประชากร เกิดภาระค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 ในจำนวนนี้เป็นบัตรทอง 1.2 หมื่นล้าน ซึ่งยังไม่รวมภาระที่ประชาชนต้องควักจ่ายเอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวล คือ จำนวน 9 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคไต ไม่รู้ภาวะอาการของตนเอง และพบว่าผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 1 ใน 3 เป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยเมื่อโรคเกิดการลุกลามไปแล้ว จึงต้องการให้ผู้ป่วยเบาหวานตระหนัก และสังเกตสัญญาณของโรค
ระยะแรกจะไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ความดันโลหิตสูงมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นต้น หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้โรคลุกลามจากการเสื่อมของไต จนนำไปสู่ไตวาย จะมีอาการชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซีด ข้อเท้าและเท้าบวม และคันผิวหนัง โรคหัวใจและหลอดเลือดระยะแรก และต้องการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ด้านแนวทางการรักษาเพื่อชะลอการลุกลามของภาวะไตวาย สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตเรื้อรังด้วยนั้น ปัจจุบันมีแนวทางใหม่ในการรักษาด้วยยา เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งมียาหลายกลุ่ม ที่จะช่วยยับยั้งตัวรับมิเนอราโลคอร์ติคอยด์ (mineralocorticoid receptor) ที่ทำงานมากเกินไป เป็นวิธีการรักษาใหม่ สามารถชะลอการลุกลามของโรคไตเรื้อรัง ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายของผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง
รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากโรคไตเรื้อรัง จากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยปัจจุบันได้มีการอนุมัติแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งปัจจุบัน ยากลุ่มล่าสุด คือ nonsteroidal mineralocorticoid receptor antagonist (MRA)
มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในผู้ป่วย 13,000 คนทั่วโลก เพื่อประเมินความปลอดภัย และประสิทธิผลของยาต่อการทำงานของไต หัวใจ และหลอดเลือด ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า สามารถลดความเสี่ยงต่อการรับการบำบัดทดแทนไตได้อย่างสม่ำเสมอ
รศ.นพ. ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ ประธานวิชาการชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ระบุว่า สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังร่วม สิ่งสำคัญคือการช่วยชะลอความเสื่อมของไตและหัวใจของผู้ป่วย ถ้ามีการวินิจฉัยเร็ว คนไข้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้รับยาที่ช่วยชะลอไตเสื่อมได้เร็ว โอกาสที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและไตก็จะดียิ่งขึ้น มีข้อมูลชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะให้ผลดียิ่งกว่าการรักษาเมื่อโรคมีการดำเนินไประยะหลังแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลควรตระหนักถึงความสำคัญของรายละเอียดในการตรวจสุขภาพ เพื่อการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังในคนไข้เบาหวานที่เร็วขึ้นและได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยการตรวจหาโปรตีนรั่วในปัสสาวะด้วยวิธีการตรวจปัสสาวะปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง
และเมื่อโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัว จึงต้องการแนะนำการดูแลสุขภาพ 1.ตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ 2.ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารสุขภาพ และปริมาณที่เหมาะสม ลดการรับประทานน้ำตาล และไขมันอิ่มตัว 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และ 4.งดสูบบุหรี่ และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์