ความสำเร็จของนักวิจัยไทย โดย รศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์น้ำมันสกัดจาก "เมล็ดงาม้อน" ในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดลำไส้อักเสบในหนูทดลอง เปิดเผยความสำเร็จของงานวิจัยล่าสุดซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.
โดยที่มาของงานวิจัยในครั้งนี้ เกิดจากการตระหนักถึงสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งทำให้ประชากรไทยและทั่วโลกเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ สาเหตุสำคัญเกิดจาก "ท้องผูกเรื้อรัง" ทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้จนเกิดการเปลี่ยนสภาพ ส่งผลให้แบคทีเรียที่เกาะติดผนังลำไส้ขาดสมดุล เกิดเนื้องอก จนกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับเมล็ดงาม้อน (Perilla seed) ในแวดวงอาหาร ปัจจุบันนิยมใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของ "ซูเปอร์ฟู้ด" (Superfood) เพื่อสุขภาพที่หลากหลาย เพราะมีสารสำคัญซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันที่ช่วยบำรุงสมอง และต้านอนุมูลอิสระ โดยผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดงาม้อนสกัดด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นจากโครงการวิจัย
เมื่อนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่า น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาม้อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารสำคัญต่างๆ เช่น โทโคเฟอรอล, โพลีฟีนอล และอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา 3 ชนิด ได้แก่ 3, 6 และ 9 ในสัดส่วนที่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอเมกา 3 ที่มีสูงที่สุดในแหล่งที่มาจากพืช
และเมื่อนำมาทดสอบกับหนูทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่า สามารถลดการอักเสบ ปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ เสริมสร้างความแข็งแรงของผนังลำไส้ ป้องกันการเกิดก้อนเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ก่อนพัฒนากลายเป็นมะเร็ง
สำหรับแนวทางการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ นอกจากประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังส่งผลดีต่อภาคเกษตรของชาติ เนื่องจากงาม้อนมากด้วยคุณประโยชน์ จึงอาจทำให้เกิดความยั่งยืนด้วยการพัฒนาสู่การเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ที่สำคัญของประเทศได้ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งปลูกงาม้อนได้ผลดี
คาดว่า ในอีกประมาณ 1 – 2 ปีข้างหน้า จะได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภท "น้ำมันแคปซูล" และยังได้มองไปถึงการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่น ๆ ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพอีก อาทิ ครีมสลัดผสมน้ำมันสกัดงาม้อน เป็นต้น
วิธีบริโภคงาม้อนให้ได้ประโยชน์
หากอยู่ในรูปของ "เมล็ด" จะมีโปรตีนและแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย สามารถบริโภคเพื่อสุขภาพประมาณ 3 - 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน แต่หากอยู่ในรูปของ "น้ำมัน" ควรรับประทานประมาณ 2 - 3 ช้อนโต๊ะต่อวันเป็นปริมาณที่เหมาะสม
ไม่ควรรับประมาณมากเกินไป เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของไขมันและพลังงานเช่นเดียวกับน้ำมันชนิดอื่น ๆ