พูดถึงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ 2566 ที่ต้องคิดถึงควบคู่กัน ก็คือ "ขนมไหว้พระจันทร์" ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายไส้ให้เลือกรับประทานกันแต่หากเผลอรับประทานมากไปอาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ตามมาได้
จากข้อมูลของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขนมไหว้พระจันทร์ขนาดปกติ 1 ชิ้น น้ำหนัก 166 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 614 – 772 กิโลแคลอรี ซึ่งมากกว่าเมนูข้าวผัดหมู ข้าวผัดกะเพราไก่ไข่ดาว หรือเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว 1 จานเสียอีก แม้ว่าจะตัดแบ่งออกเป็น 6 ส่วนแล้วก็ตามก็ยังให้พลังงานสูงถึง 96 – 120 กิโลแคลอรีซึ่งจะให้พลังงานที่แตกต่างกันตามชนิดของไส้ที่อยู่ด้านใน
ขนมไหว้พระจันทร์ ของจีนดั้งเดิมนั้น มีส่วนประกอบ คือ โหงวยิ้ง (เมล็ดพืช 5 ชนิด) ถั่วแดง ถั่วดำ พุทราจีน และเม็ดบัว เป็นต้น เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้มีการปรับรสชาติเข้ากับคนไทย เช่น ใช้ทุเรียน เกาลัด ลูกพลับ และไข่แดงเค็ม มาผสมเป็นไส้ นอกจากนี้ยังอาจมีการเติมน้ำตาลมากขึ้น
ในขณะที่มีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งยังมีน้ำมันและน้ำเชื่อมเป็นส่วนประกอบเมื่อมาผสมกับไส้ต่าง ๆ จึงเป็นขนมที่ให้พลังงานสูง หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำตาลในเลือดสูงได้
ไส้โหงวยิ้ง
ไส้เมล็ดบัวและไข่
ไส้เมล็ดบัว
ไส้ทุเรียนหมอนทอง
ไส้พุทรา
เมื่อกินขนมไหว้พระจันทร์ไปแล้ว ควรเลี่ยงขนมหวานอื่น ๆ และควบคุมปริมาณการกิน โดยแบ่ง กินเป็นชิ้นเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ที่สำคัญควรเลือกกินกับเครื่องดื่มแคลอรีต่ำ เช่น น้ำเปล่า ชาร้อน หรือ กาแฟดำ เพื่อควบคุมปริมาณของแคลอรี่ที่ร่างกายจะได้รับไม่ให้มากเกินไป และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อการมีสุขภาพที่ดี
ทั้งนี้ ก่อนรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ต้องดูวันผลิตหรือวันหมดอายุก่อนทุกครั้ง รวมทั้งสังเกตกลิ่นและสีว่า ผิดปกติหรือไม่ หากพบว่า มีกลิ่นและสีที่เปลี่ยนไปควรงดบริโภคทันที