29 ต.ค."วันสะเก็ดเงินโลก" โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง พบได้ทุกเพศ ทุกวัย

26 ต.ค. 2566 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2566 | 09:02 น.

29 ตุลาคม "วันสะเก็ดเงินโลก" ชวนทำความรู้จัก "สะเก็ดเงิน" โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง รักษาไม่หายแต่ควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสม พบได้ทุกเพศ ทุกวัยและทุกเชื้อชาติ เผย คนไทยป่วย 2% ของประชากรไทยทั้งหมด

29 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันสะเก็ดเงินโลก" (World Psoriasis Day) สำหรับวันนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับโรค รวมถึงทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังนี้ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย และทุกเชื้อชาติทั่วโลกว่า มีสาเหตุ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีการรักษาและการดูแลสุขภาพตนเอง

รู้จัก "โรคสะเก็ดเงิน" หรือ Psoriasis

"สะเก็ดเงิน" เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ลักษณะของโรค คือ ผื่นสีแดงค่อนข้างหนาและมีขุยสีขาว คล้ายรังแคติดที่ผิวแต่มักจะรุนแรงกว่า มีสะเก็ดออกมามากกว่า กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย บางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บและข้อร่วมด้วยซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย ทั้งนี้ หากมีอาการทางข้อแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อผิดรูป และพิการได้

ปัจจุบันมีหลักฐานว่า เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันและไม่ติดต่อ นอกจากนี้โรคนี้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ อีกด้วย เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ และเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อและไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ

ล่าสุด จากสถิติของกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ประมาณ 2% ของประชากรไทยทั้งหมด โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมอาการได้ โดยการรักษาที่เหมาะสม

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า โรคสะเก็ดเงิน พบได้ทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน และผู้ป่วยสูงอายุ โดยในจำนวนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก

การรักษาที่เหมาะสม คือ การทายาเฉพาะที่ที่ผิวหนัง หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการได้ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นจำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุลซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง แต่ราคาแพง ไม่สามารถเบิกได้ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงยา

ถึงแม้ว่าโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาในปัจจุบันนี้สามารถทำให้ผื่นยุบและอาการของโรคสงบลงได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ เหมือนการรักษาโรคทั่วไป

ข้อควรปฎิบัติในผู้ป่วย "โรคสะเก็ดเงิน"

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลตัวเอง 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ขจัดความเครียด 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองน้ำหนักเกินเพราะจะส่งผลต่อการรักษา 
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นเห่อ เช่น การแกะเกา การดื่มสุรา เป็นต้น 

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันโรคผิวหนัง, องค์การเภสัชกรรม