ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ตอบคำถามที่ว่า โอมิครอนกลุ่มใดจะเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกในปี พ.ศ.2567 โดยให้คำตอบพร้อมอธิบายรายละเอียดเอาไว้ ดังนี้
คาดว่า จะเป็นการระบาดของโอมิครอนกลุ่ม "Flip mutation" ที่มีการกลายพันธุ์ของกรดอะมิโนบริเวณหนามสองตำแหน่งชิดกัน (double mutation) คือ ที่ตำแหน่ง L455F หรือ L455S และ F456L เช่น โอมิครอน HV.1, HK.3, GK.1.1, EG.5.1.8, JN.1 ฯลฯ ที่คาดว่า สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรุ่นใหม่ที่อาศัยเชื้อโอมิครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบในการผลิต (new monovalent SARS-CoV-2 variant vaccine)
โอมิครอน XBB* เช่น EG.5 ที่มีการระบาดเพิ่มมากที่สุดทั่วโลกในขณะนี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง "F456L" อันจะช่วยให้ไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ
ส่วนโอมิครอนการกลายพันธุ์ในตำแหน่งชิดกัน "L455F+F456L" นอกจะช่วยให้ไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันแล้วยังช่วยให้ส่วนหนามของไวรัสเข้ายึดเกาะกับผิวเซลล์ (ACE2) ได้ดียิ่งขึ้น
รุ่นลูกของ BA.2.86 เช่น JN.1 (BA.2.86.1.1) มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง "L455S" อันจะช่วยให้ไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ
ปลายปี 2566 โลกได้มีโอกาสรู้จักโอมิครอนรุ่นที่สี่ (fourth generation omicron variants) "BA.2.86" หรือที่เรียกว่า "พิโรลา (Pirola)" เป็นไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในประเทศเดนมาร์กในเดือนกรกฎาคม 2566 และต่อมาถูกพบในหลายประเทศ สายพันธุ์นี้เป็นลูกของสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 ซึ่งทำให้เกิดการระบาดของไวรัสในช่วงต้นปี 2565
โอมิครอน BA. 2.86 จากรหัสพันธุกรรม พบว่า สืบสายสกุลมาจากโอมิครอนดั้งเดิม "BA.2" ซึ่งแยกจากสายสกุลโอมิครอน XBB ยังไม่อาจคาดคะเนได้ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2.86 จะมีอาการที่ไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด หรือก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (severe) จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนในช่วงที่เดลตาระบาด จนองค์การอนามัยโลกต้องกำหนดอักษรกรีก (ที่ใช้กับไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรง)
ตัวถัดจากโอมิครอน คือ "π (พาย/Pi)" ให้กับ BA.2.86 หรือไม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามต่างไปจาก BA.2 ถึงกว่า 30 ตำแหน่ง
แต่ในปี 2567 ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกลับคาดว่า จะไม่ใช่โอมิครอน BA.2.86 และลูกหลานที่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแต่จะเป็นการระบาดของกลุ่มโอมิครอน "Flip" ซึ่งมีการกลายพันธุ์สองตำแหน่งชิดกัน (double mutation) คือ ที่ตำแหน่ง L455F หรือ L455S และ F456L
อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรดอะมิโน "ฟีนิลอะลานีน (F)" "ซีรีน (S)" และ "ลิวซีน (L)" ทำให้ส่วนหนามของไวรัสสามารถจับกับผิวเซลล์ (ACE2) ได้มั่นคงขึ้น ทำให้ไวรัสแทรกเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าการ "จับคู่-พลิกขั้ว (ของกรดอะมิโน)" หรือ "Flip"
ข้อมูลจากฐานข้อมูลโควิดโลก "จีเสส(GISAID)" ในช่วง 6 เดือน (24/4/2566-20/10/2566) ที่ผ่านมา พบว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างส่งตรวจพบเป็นโอมิครอนกลุ่ม Flip (L455F+F456L) ประมาณ 24,800 ตัวอย่าง หรือประมาณร้อยละ 6 จากตัวอย่างทั้งหมดที่สุ่มมาถอดรหัสพันธุกรรมจากทั่วโลก โดยพบในไทย 7 ตัวอย่าง เช่น
ทั่วโลก
ประเทศไทย
ในขณะที่โอมิครอน BA.2.86 มีการแพร่ระบาดเพิ่มจำนวนอย่างช้า ๆ พบเพียง 1,192 ตัวอย่าง หรือประมาณร้อยละ 0.29 จากตัวอย่างทั้งหมดที่สุ่มมาถอดรหัสพันธุกรรมจากทั่วโลก โดยยังไม่พบในประเทศไทย
ปรากฏการณ์การกลายพันธุ์แบบจับคู่-พลิกขั้ว หรือ Flip Mutation (Spike L455F + F456L) ทำให้เกิด โอมิครอน XBB รุ่นลูกหลายสายพันธุ์ เช่น
HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) กลายพันธุ์มาจาก EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1) มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L
GK.1.1 (XBB.1.5.70.1.1) กลายพันธุ์มาจาก XBB.1.15 เกิดกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L
EG.5.1.8 (XBB.1.9.2.5.1. กลายพันธุ์มาจาก EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1) เกิดกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L
โอมิครอน HK.3 ได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์บนฐานข้อมูลจีเสส (GISAID) แล้วทั้งสิ้น 6,618 ตัวอย่าง
ส่วนโอมิครอน GK.1.1 มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์บนฐานข้อมูลจีเสส 2,699 ตัวอย่าง โอมิครอน EG.5.1.8 จำนวน 596 ตัวอย่าง ซึ่งต้องเฝ้าติดตามทั้งสองสายพันธุ์ย่อยอย่างใกล้ชิดต่อไป
พบโอมิครอน HK.3 ในประเทศไทยแล้ว จำนวน 9 ราย ส่วน GK.1.1 และ EG.5.1.8 ยังไม่พบ (ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2566)
ข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics