ดังนั้น ทักษะสำคัญที่ต้องปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในยุค Gen AI จึงมีน้ำหนักมาอยู่ที่ทักษะการตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่คำตอบที่กำลังค้นหา ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนี้ นักวิเคราะห์หลายท่านมีความเห็นตรงกันว่า เป็นก้าวสำคัญที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และการแพทย์ด้วย แพทย์หรือพยาบาล ฯลฯ จะปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร? เป็นคำถามที่ยังคงต้องหาคำตอบต่อไป
ในมิติของข้อมูลระดับบุคคลที่จะปูทางไปสู่เรื่องของการดูแลสุขภาพรายบุคคล หรือที่เรียกว่า Precision Medicine ดูเหมือนจะขยับใกล้เข้ามาในทุกขณะ ประกอบกับอุปกรณ์ (Devices) ต่างๆ ในปัจุบัน ต่างก็มีเซ็นเซอร์จับข้อมูลส่งเข้ามาในเครือข่ายได้แม่นยำขึ้น สามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลสุขภาพ ที่ถูกเชื่อมต่อผ่านระบบมาตรฐานข้อมูลสารสนเทศ สามารถคุยกับเครือข่ายผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ ในชุดเดียวกัน ภาษาเดียวกัน กลายเป็นฐานข้อมูลมหาศาล (Big Data) และเมื่อเทคโนโลยีสามารถประมวลผลได้ในทุกระดับเพื่อสร้างสรรค์คำตอบอันเกิดจากการตั้งคำถามของมนุษย์แล้ว การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในมิติของข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะประวัติการรักษาซึ่งถูกจัดเก็บไว้ที่โรงพยาบาลนั้น มีความละเอียดอ่อนและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หากมองย้อนไปในอดีต การขอข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนึ่งเพื่อไปรักษาในอีกโรงพยาบาลหนึ่ง มีความยุ่งยาก ทั้งขั้นตอนในการประสานงานและระยะเวลาการรอคอย
แต่ในระยะที่ผ่านมา กำแพงนี้ได้ถูกทำลายลงด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุขของไทยที่เรียกว่า Health Links ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพที่ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยของทุกโรงพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกันได้
เช่น กรณีการเข้าไปรับบริการจากสถานพยาบาล ซึ่งบุคลากรการแพทย์ผู้มีหน้าที่ทำการรักษาอยู่ต่างสถานพยาบาล (กับสถานพยาบาลที่มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยนั้นไว้) แต่มีความจำเป็นต้องการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการจำเป็นต้องยืนยันตัวตนและให้ความยินยอมก่อน เพื่อเข้าถึงข้อมูลการรักษา โดยทำธุรกรรมผ่านแอปฯ เป๋าตัง
ดังนั้น ฐานข้อมูลที่มีข้อมูลครอบคลุมเพียงพอนั้น มีความสำคัญมากพอๆ กับกลไกการออกแบบเพื่อดูแลและปกป้องข้อมูลที่มนุษย์กำลังให้ความสำคัญและจะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ต่อไปของ GEN AI ที่ต้องนำข้อมูลมาประมวลผลวิเคราะห์และต้องตอบคำถามของมนุษย์ด้วยการประมวลชุดคำตอบอย่างเป็นระบบ
จากเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น เพียงเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งถังข้อมูลขนาดใหญ่ที่อยู่ในฐานข้อมูลเดิมในรูปแบบของสถานพยาบาล กำลังถูกดึงเข้าไปเชื่อมต่อกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกลางของประเทศเพื่อปูทางไปสู่การสร้างสรรค์คำตอบใหม่จากการตั้งคำถามของมนุษย์ในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในอนาคต
ด้วย GEN AI เพื่อทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์เอง ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการฝึกทักษะที่สำคัญเพื่อแสวงหาชุดคำตอบที่ดีที่สุด ที่พร้อมจะนำไปประมวลผลและวางแผนเกี่ยวกับการสาธารณสุขท่ามกลางความท้าทายของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคตที่ดูเหมือนจะอยู่ใกล้กว่าที่เราคิด
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,938 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566