สังเกต "Smiling Depression" หน้ากากรอยยิ้ม โรคซึมเศร้า ก่อนจะสาย

19 พ.ย. 2566 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2566 | 11:10 น.

สังเกตอาการ "Smiling Depression" หน้ากากรอยยิ้ม ของคนป่วยโรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่นอกจากคนรอบข้างจะไม่รู้ บางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ตัว พร้อมแนวทางป้องกัน และรับมือ

จากกรณี การจากไปของ "ดีเจโก" หรือ นายตฤณ เรืองกิจรัตนกุล ดีเจชื่อดัง คลื่นกรีนเวฟ พลัดตกจากตึกสูง ย่านสุขุมวิทเสียชีวิตเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ 17 พฤศจิกายน 2566 โดยสาเหตุที่แท้จริงอยู่ระหว่างการสืบสวนนั้น ทำให้สังคมหันมาตระหนักถึงภาวะสุขภาพจิต ของคนที่มีบุคคลิกภายนอกดูสดใส อารมณ์ดี และยิ้มแย้มแจ่มใส

"ดีเจโก" นายตฤณ เรืองกิจรัตนกุล

"Smiling Depression" ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยเป็นภาวะที่ผู้ป่วยซึมเศร้า หรือผู้ที่มีภาวะเศร้าใจ ทุกข์ใจ มักแสดงออกด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะ ร่าเริง เหมือนเป็นการสวมหน้ากากแห่งรอยยิ้มเอาไว้ตลอดเวลา หรือเรียกว่าเป็น อาการซึมเศร้าที่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression มักจะมีความรู้สึกลึกๆ ข้างในว่างเปล่า ไร้ความหมาย ไม่มีความสุข เเละมีความทุกข์แผ่ขยายอยู่ตลอดเวลา เเต่ภายนอกที่เเสดงออกนั้นยังคงมีรอยยิ้ม หัวเราะง่าย สดใสร่าเริง เเละคอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่นเสมอ

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ หนึ่ง ปฐมาภรณ์ ตันจันทร์พงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และเจ้าของช่องTikTok หนึ่งเอง ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของผู้ที่มีภาวะ "Smiling Depression" ว่า คือแขนงหนึ่งของผู้ที่มีภาวะโรคซึมเศร้า มีความอันตราย และได้ให้วิธีรับมือไว้ ดังนี้

ความอันตรายของ "Smiling Depression"

  1. คนรอบข้างไม่สามารถรับรู้ ถึงภาวะผิดปกติ ความทุกข์ใจ ความเศร้าใจ ของผู้ที่มีอาการได้
  2. คนรอบข้าง ไม่สามารถให้การดูแล หรือช่วยเหลือได้ทันท่วงที
  3. ผู้ที่มีอาการ Smiling Depression ไม่รู้ตัว ว่าตนเองกำลังมีอาการป่วยซึมเศร้า
  4. ไม่ได้รับการรักษา หรือการประเมิณอาการได้ทันท่วงที

หนึ่ง ปฐมาภรณ์ ตันจันทร์พงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และเจ้าของช่องTikTok หนึ่งเอง

สาเหตุของการเป็น "Smiling Depression" 

  1. เป็นผู้ที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เมื่อประสบปัญหา คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะแสดงออกว่ามีความเข้มแข็งมากกว่า
  2. ไม่ต้องการรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องเป็นห่วงตนเอง และบางครั้งยังต้องรับฟังปัญหาของผู้อื่นอีกด้วย
  3. มีความรับผิดชอบสูง ทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือกับสังคมรอบตัว จึงเลือกที่จะไม่แสดงออกความรู้สึกของตนเอง ที่จะกระทบผู้คนรอบข้าง
  4. เป็นกลไกการปกป้องตนเองหรือ Self - Defence mechanism เกิดจากการไม่สามารถยอมรับได้ว่าตนเองกำลังมีปัญหา

วิธีสังเกตภาวะ Smiling Depression

  1. ภาวะความเจ็บป่วยทางกาย เช่นการปวดศีรษะซ้ำๆ ปวดเมื่อยร่างกายเรื้อรัง
  2. ภาวะความผิดปกติในการนอน เช่นนอนไม่อิ่ม นอนไม่เคยพอ หรือ นอนไม่หลับ
  3. ภาวะความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ทั้งรับประทานมากเกินไป หรือรับประทานน้อยเกินไป
  4. มีพฤติกรรมเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากผิดปกติ
  5. หมดความสนใจในกิจกรรมที่ชื่นชอบ 

สังเกต \"Smiling Depression\" หน้ากากรอยยิ้ม โรคซึมเศร้า ก่อนจะสาย
 

 ทางออก เมื่ออยู่ในภาวะ Smiling Depression

  1. ปรึกษา หรือระบายความรู้สึกกับคนที่มี วุฒิภาวะทางความคิดสูง เป็นผู้ฟังที่ดี หรือผู้ที่ไว้วางใจ
  2. พบเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่เหมาะสม และรับข้อแนะนำ ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหา หรือรักษาอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ได้แนะนำวิธีป้องกันภาวะปัญหาสุขภาพจิตว่า การนั่งสมาธิ เพื่อให้รู้เท่าทันความคิด และความรู้สึกของตนเอง การรับรู้ว่าทุกอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อผ่านเข้ามาก็จะผ่านออกไป หากรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึก ของตนเองได้เช่นนี้ ก็จะทำให้มีสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นการป้องกันการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ และการป้องกันย่อมทำได้ง่ายกว่าการรักษา