"ออฟฟิศซินโดรม" อาการเรื้อรังที่ป้องกันได้  

04 ธ.ค. 2566 | 20:15 น.

กรมควบคุมโรค แนะคนหนุ่มสาววัยทำงานหมั่นเช็คสัญญาณเตือน "โรคออฟฟิศซินโดรม" เปิดเคล็ด (ไม่) ลับยึดหลักปฏิบัติ 3 ป. "ปรับ-เปลี่ยน-ประจำ" ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้  

ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตสำหรับคนทำงานออฟฟิศที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเนื่องจากต้องนั่งทำงานเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือนั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ปัจจุบันมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทำงานถึงร้อยละ 60% 

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดคอ หลังและไหล่ จากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ และกลุ่มคนไอทีทั้งหลายที่ต้องทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวันทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน บางท่าทางจะทำให้เกิดการโค้งงอผิดรูปของกระดูก ขณะที่บางท่าทางก็ทำให้เกิดอาการตึง ยึด จนเกิดอาการปวด

ข้อมูลจากสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค อธิบายว่า โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนวัยทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยไม่ได้เปลี่ยนอริยาบท ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึงและอักเสบได้ 

สาเหตุการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม 

1.การนั่งทำงานท่าเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน 

2.ท่าทางการทำงานไม่เหมาะสม หลังค่อม ก้มหรือเงยคอมากเกินไป

3.สภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม

4.สภาวะเครียดจากการทำงาน

5.การพักผ่อนไม่เพียงพอ

หลักการ 3 ป. ป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม 

"ปรับ"  : ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

"เปลี่ยน" : เปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงานให้ถูกต้อง

"ประจำ" : ออกกำลังกายเป็นประจำ  

\"ออฟฟิศซินโดรม\" อาการเรื้อรังที่ป้องกันได้  

5 ท่าช่วยยืดกล้ามเนื้อ

ท่าที่ 1

ท่ายืดกล้ามเนื้อคอ (Neck Stretch) ช่วยยืดกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อไหล่ได้ผ่อนคลาย เหมาะกับผู้ที่ต้องจ้องคอมเป็นเวลานานๆ จนทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ

ท่าที่ 2

ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักหลัง (หลังบน) ช่วยคลายอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหลัง

ท่าที่ 3  

ท่าขาเลข 4 ช่วยลดอาการปวดหลัง เมื่อยก้น ปวดเข่า ต้นขาตึงเหมาะกับผู้ที่ต้องนั่งนานๆ และผู้ที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขา

ท่าที่ 4

ท่ายืดกล้ามเนื้อไทรเซ็ปส์ (Triceps Stretch) ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อช่วงคอ หัวไหล่ แขน และหลังส่วนบนไปได้พร้อมกัน

ท่าที่ 5  

ท่ายืดกล้ามเนื้อแขน (Stretching Arm) ช่วยเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อแขนแข็งแรง ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อมือทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูล โรงพยาบาลศิครินทร์, สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค