"BDMS" ผนึกกำลัง "แอสตร้าเซนเนก้า" ใช้ AI จับพิกัดมะเร็งปอด

04 ก.พ. 2567 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 07:56 น.

"กรุงเทพดุสิตเวชการ" ร่วมลงนาม "แอสตร้าเซนเนก้า" ภายใต้โครงการ “Collaboration towards excellence in lung cancer” นำร่องโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ใช้ AI เสริมการวินิจฉัยมะเร็งปอด เพื่อประเมินความเสี่ยงทันท่วงที

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ กล่าวว่า บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกันภายใต้โครงการ “Collaboration towards excellence in lung cancer” นำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาเสริมการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปอด ในโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคประชาชนในการประเมินความเสี่ยงและเข้ารับการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อร่วมรณรงค์ไปกับแคมเปญ Close the care gap หรือการปิดช่องว่างในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง ขององค์การอนามัยโลก (WHO) วันมะเร็งโลก 

\"BDMS\" ผนึกกำลัง \"แอสตร้าเซนเนก้า\" ใช้ AI จับพิกัดมะเร็งปอด

ทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ในฐานะโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยแบบครบองค์รวมในทุกขั้นตอนการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งในร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว พร้อมชูความเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิก (Center of Excellence - Cancer) 

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ โดยสถานการณ์ปัจจุบันติด 1 ใน 48 ประเทศที่พบผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดในโลก อัตราส่วนการเสียชีวิตของประเทศไทย 10 คนจะรักษาหาย 9 คน และเสียชีวิต 1 คน แต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดเฉลี่ย 23,000 คน และในจำนวนนี้จะเสียชีวิต 19,000 คน มีวิธีการรักษาอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. การใช้เคมีบำบัด 
  2. การผ่าตัด 
  3. การฉายแสง 

ส่วนการนำ Ai เข้ามาใช้จะช่วยปิดช่องว่างการคัดกรองได้มากขึ้น ซึ่งสามารถประเมินร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ร่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็นอย่างมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่ และความเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5 สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR หรือ KRAS และในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการตรวจคัดกรองในมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่

\"BDMS\" ผนึกกำลัง \"แอสตร้าเซนเนก้า\" ใช้ AI จับพิกัดมะเร็งปอด

ดังนั้น การที่จะปิดช่องว่างหรือ Close the care gap ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเสริมโดยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์รังสีทรวงอกในผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และโรงพยาบาลจะนำชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งในร่างกายจากเลือด (Circulating Tumor DNA : ctDNA) โดยใช้เทคโนโลยี Next-Generation Sequencing ที่สามารถตรวจหามะเร็งหลายชนิดพร้อมกัน เพื่อค้นหาโรคมะเร็งตั้งแต่ก่อนเป็นจนถึงระยะเริ่มต้น ช่วยเสริมการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และในปัจจุบันผู้ป่วยก็เริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประชากรในแถบประเทศเอเชีย

สำหรับการรักษาเมื่อตรวจพบจะแบ่งออกเป็นระยะ ดังนี้

  • ในระยะที่ 1 สามารถผ่าตัดและรักษาหายขาดได้ โดยไม่ต้องใช้ยา ให้เคมีบำบัดหรือการฉายแสง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
  • ในระยะที่ 2-3 อัตราการรักษาหายประมาณ 50% เพราะสามารถรุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองได้ แต่ก็หวังผลให้หายขาดได้เช่นกัน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการรักษานาน ทั้งให้ยาเคมีและฉายแสง
  • ในระยะที่ 4 จะเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองเพียงเท่านั้น

\"BDMS\" ผนึกกำลัง \"แอสตร้าเซนเนก้า\" ใช้ AI จับพิกัดมะเร็งปอด

นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยให้ความสำคัญมาตลอดระยะเวลา 40 ปี หากรู้เร็วสามารถรักษาได้ แอสตร้าเซนเนก้าพร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมคนไทยหันมาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ปอด จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบเงาของก้อนเนื้อในปอดซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ที่อาจมีขนาดเล็กหรือมองเห็นได้ยากภายในระยะเวลา 3 นาที ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการรอดชีวิต 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้มากยิ่งขึ้น

พญ.เมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด  (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสององค์กรในครั้งนี้ จะช่วยปิดช่องว่างการตรวจวินิจฉัย และดูแลเติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนคนไทยและทุกเชื้อชาติให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง และข้ามผ่านการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ