WHO ชี้ภาวะน่าห่วง คนน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานทะลุพันล้านคนทั่วโลก

02 มี.ค. 2567 | 18:58 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2567 | 23:35 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า มีประชากรโลกจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคนแล้วที่เข้าข่าย “น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน”  ซึ่งเป็นภาวะที่มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ ที่จะตามมาได้อีกมากมาย

 

การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ใน วารสาร The Lancet เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ชี้ว่า ผู้คนจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มากกว่าภาวะน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งนั่นหมายถึง “ภาวะโรคอ้วน” ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งในอดีตมักจะเผชิญภาวะขาดสารอาหารซึ่งทำให้น้ำหนักตัวเป็นไปในทางต่ำกว่ามาตรฐานมากกว่า

แต่การศึกษาล่าสุดพบว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1990-2022 อัตราการเกิดโรคอ้วนในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว และเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างลดลงราว 1 ใน 5 และ 1 ใน 3 ตามลำดับ

WHO ชี้ภาวะน่าห่วง คนน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานทะลุพันล้านคนทั่วโลก

“ในอดีตเราอาจคิดว่าภาวะโรคอ้วนเป็นปัญหาของคนมีฐานะ แต่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่าโรคอ้วนนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในระดับโลก”

มาจิด เอซซาติ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Imperial College London ผู้เขียนรายงานการศึกษาชิ้นนี้ ระบุว่า มีตัวเลขของผู้ที่ใช้ชีวิตในภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานในสัดส่วนที่มากขึ้น และการเกิดโรคอ้วนในเด็ก ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง

“ในอดีตเราอาจคิดว่าภาวะโรคอ้วนเป็นปัญหาของคนมีฐานะ แต่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่าโรคอ้วนนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในระดับโลก” ฟรานเซสโก แบรนกา หัวหน้าฝ่ายโภชนาการขององค์การอนามัยโลกกล่าว

ด้านนายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวย้ำว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประเทศต่างๆทั่วโลกควรจะต้องออกมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้ เช่น การเก็บภาษีสินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำตาล และสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในสถานศึกษา เป็นต้น รวมถึงต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

โรคอ้วนยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆตามมา เช่นโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิชาการอย่างแบรนกาจาก WHO และเอซซาติจาก Imperial College ต่างก็เห็นว่า ยารักษาโรคอ้วนอย่าง วีโกวี (Wegovy) มอนจาโร (Mounjaro) และเซปบาวด์ (Zepbound) อาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ แต่ด้วยต้นทุนที่แพงอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงยาเหล่านี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในรายงานการศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ รวมทั้งยังขาดข้อมูลหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการใช้ตัวเลขดัชนีมวลกาย หรือ BMI ในการกำหนดค่าของภาวะโรคอ้วน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่สมบูรณ์แบบนักสำหรับนักวิจัย

ทีมนักวิจัยจาก Imperial College London ซึ่งเก็บข้อมูลศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มายาวนาน เคยเขียนรายงานชิ้นหนึ่งในปี 2016 ระบุว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โลกเราได้เปลี่ยนแปลงจากโลกที่จำนวนคนผอมมากกว่าคนอ้วน มาเป็นโลกที่มีคนอ้วนมากกว่าคนผอม และหากอัตราการมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นยังดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไป คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2025 ราว 18% ของผู้ชายทั่วโลก และ 21% ของผู้หญิงทั่วโลก จะกลายเป็นคนอ้วน โดยจีนเป็นประเทศที่มีคนน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมากกว่าประเทศอื่นๆ และสหรัฐอเมริกาก็มีจำนวนคนที่เป็นโรคอ้วนอย่างรุนแรงมากที่สุด

ข้อมูลอ้างอิง