วิธีรับมือเลี่ยงเป็น "โรคลมแดด" สู้ "ฝุ่นพิษ PM 2.5" ทำได้ทันที

24 มี.ค. 2567 | 20:00 น.

สภาพอากาศร้อนจัดคนไทยเสี่ยงเป็น "โรคลมแดด" Heatstroke แนะวิธีรับมือ พร้อมเปิดเทคนิกวิธีป้องกันตัวจาก "ฝุ่นละออง PM 2.5" เกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่เลี่ยงผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน นอกจากจะต้องประสบกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวตลอดทั้งวันแล้ว บางพื้นที่ก็ยังประสบกับปัญหาของเรื่องของฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย แต่ทั้งสองสถานการณ์นี้เราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองได้ 

โรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด
 
ปัจจุบันด้วยอากาศที่ร้อนจัดในหลายพื้นที่ในประเทศไทย ทำให้เราต้องระวังภาวะลมแดดหากต้องทำกิจกรรม หรือ ออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมากในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น หากดื่มน้ำไม่เพียงพอหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการถ่ายเทของอากาศไม่ดีจะทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงอาจเป็นโรคลมแดดได้ ยิ่งไปกว่านั้นโรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจนําไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อวัยวะภายในได้รับความเสียหายหรือล้มเหลว หรือแม้กระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที 

โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป มักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง มักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูงอาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ บางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันตัวเองจากโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก

1.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด

2.สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้

3.จิบน้ำบ่อย ๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ถึงแม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย

4.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

5.อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงมาก

6.เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง

ผู้ที่ออกกำลังกาย

-แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง

-สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง

ผู้ที่มีโรคประจำตัว

หากมีอาการผิดปกติ หรืออาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ขอให้รีบพบแพทย์โดยทันที

ในขณะที่ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของเรา เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือเป็นอาทิตย์ และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณมากจะส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพโดยตรง อาทิ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

1.สวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า เพื่อป้องกันฝุ่น

2.เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง

3.หมั่นทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน

4.เลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาวะปกติ ไม่ก่อควันดำ

5.หากพบอาการผิดปกติของร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ทันที

6.ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษทางอากาศเป็นประจำเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม


ข้อมูล รพ.สินแพทย์, กรมการแพทย์