ปัจจุบันเรื่องของ "บุหรี่ไฟฟ้า" มีการถกเถียงกันอย่างหลากหลายในหลายมิติ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศห้ามนำเข้าและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าก็ตาม ขณะที่ในเรื่องนี้ก็มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซึ่งต่างหยิบยกข้อมูลมาสนับสนุนความเห็นของตนเอง ทำให้สังคมและประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนขึ้นได้
โดย องค์การอนามัยโลก ได้อธิบายว่า บุหรี่ไฟฟ้า นั้นปลดปล่อยไอที่มีนิโคตินและสารที่เป็นพิษอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้สูบและผู้ที่ได้รับไอมือสองด้วย โดยเฉพาะหากเป็นวัยรุ่น สารนิโคตินนี้ทำให้เกิดผลเสียอย่างถาวรต่อสมองได้ขณะที่ในหญิงตั้งครรภ์นั้นจะเป็นอันตรายต่อทารกในการเจริญเติบโต ส่วนของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้นทำให้ผิวหนังไหม้ได้ หากกินเข้าไปหรือดูดซึมมทางผิวหนัง ซึ่งอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้านี้มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลได้
นอกจากนี้ข้อมูลโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งที่ได้เผยแพร่และรวบรวมประเด็นพร้อมข้อสงสัยและข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจมาเผยแพร่นั้น ได้อธิบายเกี่ยวกับ บุหรีไฟฟ้า ไว้ดังนี้
บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร
บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา โดยมีสารประกอบหลักคือ นิโคติน โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน และสารแต่งกลิ่นและรส
ตัวอย่างสารเคมีที่พบในน้ำยาเป็นอันตรายต่อร่างกาย
สารนิโคติน : จะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มะเร็งช่องปาก หลอดอาหาร และตับอ่อน
โพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin : เมื่อสัมผัสหรือสูดดมอาจเกิดการระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และปอดได้ อีกทั้งเสี่ยงต่อผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
ขณะที่ข้อมูลจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจผิดกฎหมายอีกหลายฉบับ
1.กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ และยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า
เป็นความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.กรณีเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ จึงมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท เป็นต้น
ข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม