ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม เด็ก ๆ จะออกมาเล่น เช่น ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ และครอบครัวส่วนใหญ่ต่างพากันเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการเจอแสงแดด อากาศร้อนที่ร้อนจัด และการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ซึ่งเด็ก ๆมีภูมิต้านทานไม่มากนักจึงมักเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพของบุตรหลาน หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไข้แดด มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าร้อน ซึ่งอุณหภูมิภายนอกสูง อาการแสดงของโรคถูกกระตุ้นจากอากาศที่ร้อน ร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย อาจมีอาการไข้สูงอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว บางรายอาจมีตาแดง
วิธีการดูแลป้องกัน
1. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เด็ก ๆ ต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง
2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดต่อวันให้เพียงพอเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อที่เสียไปในฤดูร้อน
3. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หรือพกเจลล้างมือติดตัวเพื่อสะดวกในการล้างมือ
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
5. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ชิดปะปนกับคนที่เป็นหวัด ไอ น้ำมูก เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ
6. คุณพ่อคุณแม่หมั่นทำความสะอาดบ้าน ของเล่นที่ลูกใช้อยู่เป็นประจำเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
7. ไม่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดีเช่น ตลาดนัด โรงภาพยนตร์
8. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่เด็ก โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไปและฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี
ดังนั้นเด็ก ๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด หรืออยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัด