นพ.พีรพงษ์ สวัสดิพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม และการฝังเข็มลดปวดตามศาสตร์แพทย์แผนจีน รพ.พระรามเก้า กล่าวว่า ในปัจจุบันคนไทยมีภาวะขาดวิตามินดีสูงมาก ยิ่งตรวจยิ่งเจอ และพบในทุกเพศทุกวัย เฉลี่ยคนไข้ 100 คน จะตรวจพบว่าคนไข้มีภาวะขาดวิตามินดีประมาณ 30-40% คน
สาเหตุมาจากคนไทยกลัวแดดมากเกินไป ในความเป็นจริงแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้า เมื่อซึมผ่านเข้าไปในผิวจนถึงชั้นผิวหนัง จะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ดีมาก จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคต เมื่อเข้าสู้วัยผู้สูงอายุ“การขาดวิตามินดี” เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนอย่างไร หลายๆ คนคงสงสัยและเกิดคำถามมากมายว่า เพราะอะไรเราต้องออกกำลังกายช่วงแดดอ่อนๆ
นพ.พีรพงษ์ กล่าวว่า “วิตามินดี” มีประโยชน์มากมาย เป็นตัวช่วยดูดซึมแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปเพื่อเสริมสร้างกระดูกและป้องกัน โรคกระดูกพรุน ยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่คาดไม่ถึง เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยัง คลายความเครียด ลดอาการโรคซึมเศร้า ได้อีกด้วย
ซึ่งเมื่อคนไทยเกิดภาวะขาดวิตามินดี แน่นอนว่า “กระดูกของเรา” จะไม่แข็งแรง เปราะบาง เกิดการหักได้ง่าย โดยปกติร่างกายจะสามารถสร้างเซลล์กระดูกที่ดีและแข็งแรงได้ถึงอายุ 30 ปี แต่หลังจากนี้ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะค่อยๆ เสื่อมถอยลง และเมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน กระดูกจะเปราะบางและหักง่าย มีการประมาณการว่าในปี 2568 จะมีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในประเทศไทยมากถึง 3หมื่นกว่าราย และเพิ่มขึ้นปีละ 2% จนในอนาคตอีก 25 ปี อาจมีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมากถึง 5 หมื่นรายต่อปี โดยพบสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
“โรคกระดูกพรุน” เป็นเหมือนภัยเงียบ เพราะจะไม่แสดงอาการของโรค จนกว่าจะเกิดกระดูกหัก นพ.พีรพงษ์ เปิดเผยข้อมูลต่อว่า จากการศึกษาทางการแพทย์ เริ่มมีการศึกษาเรื่องกระดูกพรุน อย่างจริงจังในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า “อาการกระดูกหัก เปราะบาง ในผู้สูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน” คือ “โรคกระดูกพรุน” ที่สะสมมานานเป็นเวลาหลายสิบปี
โรคกระดูกพรุนเกิดจากการสลายของเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มวลกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะบางทำให้มีโอกาสกระดูกหักผิดรูปได้ง่าย ระยะเวลาในการเกิดโรคหลายปี โดยปกติในร่างกายคนเรา จะมีเซลล์สร้างกระดูกและเซลล์ทำลายกระดูก ที่ทำหน้าที่สร้างและสลายกระดูกอย่างสมดุลกัน
โดยเซลล์สร้างกระดูกจะทำหน้านำแคลเซียมที่ร่างกายดูดซึมมาใช้สร้างกระดูกให้แข็งแรง แต่เมื่อกระดูกได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพตามอายุ เซลล์ทำลายกระดูกก็จะทำหน้าที่ย่อยสลายกระดูกในส่วนนั้น เพื่อให้เซลล์สร้างกระดูกมาทำหน้าที่สร้างกระดูกใหม่ชดเชยกระดูกส่วนที่ถูกสลายไป โดยเราสามารถสังเกต 4 สัญญาณของโรคได้ดังนี้
1. ส่วนสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตรจากความสูงเดิม
2.หลังค่อมงุ้มลงเนื่องจากกระดูกสันหลังแตกยุบ
3.มีอาการปวดกระดูกเรื้อรัง
4. กระดูกข้อมือหรือกระดูกสะโพกหักง่าย โดยอาการนี้มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ส่วนสาเหตุในการเกิดโรคกระดูกพรุน มีดังนี้ 1.การขาดวิตามินดี 2.การขาดแคลเซียม 3.พันธุกรรม หากในครอบครัวมี ปู่ย่า ตายาย ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน จะส่งผลให้ลูกหลานในครอบครัวมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงขึ้น 4.เกิดจากการใช้ “ยา” บางชนิดที่ส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เช่น สเตียรอยด์ซึ่งใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ โรคหอบหืด ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยาต้านการแข็งตัวของโลหิต 5.การสูบบุหรี่ หรือการดื่มสุราเป็นประจำ
นพ. พีรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วิธีง่ายๆในการป้องกัน “โรคกระดูกพรุน” คือ 1. ออกกำลังกายกลางแจ้งในบริเวณที่มีแสงแดดอ่อนๆสม่ำเสมอทุกวัน เน้นการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก 2.หากมีอาการปวดตามข้อหรือปวดกระดูกไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรรีบปรึกษาแพทย์ 3. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมวัวชนิดไขมันต่ำหรือรับประทานแคลเซียมให้ได้ถึงวันละ 600 มิลลิกรัม หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม 4.งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่ 5.ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาลูกกลอน เพราะอาจมีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้ 6.ถ้าเป็นไปได้แนะนำตรวจวัดระดับวิตามินดีในร่างกายทุกๆปี หากพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
สำหรับวิวัฒนาการ “การรักษา” โรคกระดูกพรุน” ในปัจจุบัน ค่อนข้างจะทันสมัยมากขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะเริ่มต้นการด้วยการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องเอกซเรย์สำหรับวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยเฉพาะ ใช้ปริมาณรังสีเอกซเรย์ที่ต่ำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจภาวะการขาดวิตามินดี เมื่อพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่อาการของโรคอยู่ในระยะแรกเริ่ม แพทย์จะรักษาโดยการให้แคลเซียมและวิตามินดี ร่วมกับกระตุ้นให้ออกกำลังกาย แต่หากโรคกระดูกพรุนอยู่ในขั้นรุนแรงร่วมกับประเมินแล้วมีความเสี่ยงต่อกระดูกหักที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แพทย์จะมีวิธีการรักษาดังนี้
1. การให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มชี้เป้า โดยทานสัปดาห์ล่ะ 1 เม็ด หรือฉีดปีละ 1 ครั้ง
2. การฉีดยายับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูก โดยยาชนิดนี้จัดเป็นโปรตีน คือเป็น monoclonal antibody ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานเซลล์สลายกระดูก ซึ่งจะฉีด 6 เดือน ต่อ 1 เข็ม
3. ฉีดฮอร์โมน “พาราไทรอยด์” ซึ่งสังเคราะห์เลียนแบบที่ร่างกายผลิตขึ้น ทุกวัน เพื่อกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกให้ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น