นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญดูแลสถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด ผ่านกลไกคณะกรรมการ Service Plan สาขาโรคไม่ติดต่อ เริ่มการจัดตั้ง “คลินิกคุณภาพ” ให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value - based Healthcare) ทำให้ใน 2566 ปีที่ผ่านมา คลินิกคุณภาพคัดกรองดูแลและจ่ายยาโรคหืดได้ สามารถดูแลผู้ป่วยจนลดการเข้าห้องฉุกเฉินและลดการนอนโรงพยาบาล
สอดคล้องกับนโยบายที่ สธ. เดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เจ็บป่วยรักษาได้ครบถ้วนเหมือนกัน ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งได้รับการรักษาที่ “เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ” ตามแนวคิดของการจัดบริการคลินิกคุณภาพ และคณะกรรมการ Service plan สาขาโรคไม่ติดต่อ ของ สธ. จะร่วมถอดบทเรียนกับเครือข่าย EACC (Easy Asthma and COPD Clinic) ขับเคลื่อนโมเดลต้นแบบคลินิกคุณภาพ ซึ่งช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาล และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ของหน่วยบริการนั้น ๆ อีกทางหนึ่งด้วย
นพ.สุรชัย โชคครรชิตชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการพัฒนา "คลินิกคุณภาพ" ที่ให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) ที่เป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี เกิดคุณค่าสูงสุดในการรักษาพยาบาล โดยขยายบริการไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุก มีประสิทธิภาพ
จากการลงพื้นที่ร่วมกับเครือข่าย EACC ได้เห็นการทำงานเชิงรุกอย่างเข้มแข็ง พบว่า หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมโรคนี้ คือการบริการเฉพาะโรค ผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองแล้วจะได้รับบริการในคลินิกคุณภาพเพียงจุดเดียว ไม่เสียเวลารอนาน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิเข้ามาร่วมกับโรงพยาบาล ในการสร้างเครือข่ายคลินิกคุณภาพ ซึ่งเป็นการจัดบริการสุขภาพในโรคเฉพาะทางโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด โดยมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคนี้ด้วยแนวคิด “เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ” เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเป้าหมายลดการกำเริบและนอนรพ. ของผู้ป่วยให้ได้
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ครม. อนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 2.36 แสนล้านบาท อนุมัติค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหืด) วงเงิน 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.46% เพื่อให้หน่วยบริการในทุกระดับจัดบริการ ‘คลินิกคุณภาพ’ ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการให้บริการคลินิกคุณภาพที่มุ่งเน้นให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการรับมือกับสถานการณ์โรคที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
สอดคล้องกับเป้าหมายของ สปสช. ในการกระจายการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการยกระดับคุณภาพหน่วยบริการให้สามารถจัดบริการคลินิกคุณภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหืดให้ ”เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ“ ตามแนวทางการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า ‘Value-based Healthcare’ (VBHC)
ขณะเดียวกัน รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคหืดในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถที่จะควบคุมอาการหอบของโรคหืดได้ หรือ ”หืดไม่จำเป็นต้องหอบ” หากดูแลรักษาตัวเองอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ การศึกษารองรับว่าการจัดบริการ คลินิกคุณภาพ’ที่ “เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ” อย่างกรณีศึกษาของเครือข่าย EACC สามารถลดการกำเริบเฉียบพลันและนอน รพ. ได้มากถึง 89% ถือเป็นโมเดลการรักษาที่มีทั้ง Simplify & Practical process นำไปปรับใช้ได้ง่าย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ได้ในสถานพยาบาลทุกระดับ และทำโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ มีคุณภาพ, ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการรักษา และปัจจุบันผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาผ่านเครือข่าย EACC ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลใกล้บ้าน กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งสร้างเครือข่ายการให้บริการคลินิกคุณภาพให้เกิดขึ้นในสถานพยาบาลทุกระดับ และควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงของโรคได้อย่างยั่งยืน
นางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK กล่าวว่า GSK ในฐานะบริษัทด้านชีวเภสัช (Biophama) มุ่งเน้นในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผนวกกับเทคโนโลยี และความสามารถของบุคลากร เพื่อให้ก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชากร GSK พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ลดสถิติจำนวนการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินและการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของ GSK และเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้