กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว "วี-ซี (Ve-Sea)" อาหารทะเลจากพืช ที่ยกขบวน กุ้งจากโปรตีนพืช และผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลา หมึก กุ้ง จากโปรตีนพืช ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างอาหาร ผสานองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และวิทยาศาสตร์การอาหาร ส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง
นางสาวอศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based food) มีมูลค่าระหว่าง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดว่าในปี 2568 จะเติบโตสูงถึง 105.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 3 แสนล้านบาท) โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกโปรตีนทางเลือกจากพืช 628.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.5%
ทั้งนี้ แผนของ สวทช. คือ การพัฒนา "แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน" (FoodSERP) ตอบโจทย์ความต้องการแบบ One-Stop Service โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1) ส่วนผสมฟังก์ชันเพื่อสุขภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหาร
2) โปรตีนทางเลือกจากพืชตอบโจทย์เทรนด์อาหารมังสวิรัติและวีแกน
3) อาหารสำหรับกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษ เช่นผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย
4) สารสกัดเชิงหน้าที่จากธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และเวชสำอางค์
นางนิสภา ศีตะปันย์ นักวิจัยอาวุโสเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า วี-ซี (Ve-Sea) เป็นนวัตกรรมต้นแบบในกลุ่มของโปรตีนทางเลือกต่อยอดจากเนื้อไก่จากโปรตีนพืช หรือ วี-ชิค (Ve-Chick) ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนไปแล้ว โดยพบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารทะเลเทียมจากพืช (plant-based seafood) มีสัดส่วนทางการตลาดค่อนข้างต่ำ ประมาณ 1% จากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชทั้งหมดในท้องตลาด
แม้ว่าอัตราการเติบโตของตลาดอาหารจากโปรตีนพืชในช่วงปี 2564-2565 จะสูงถึง 14% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาน้อย ทำให้มีช่องว่างให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีก รวมถึงสามารถเปิดตลาดอาหารทะเลทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้อาหารทะเล ผู้แพ้กลูเตน จนถึงผู้ที่ใส่ใจสุขภาพและต้องการลดคอเลสเตอรอล
สำหรับตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้คัดเลือกและผสมผสานวัตถุดิบเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากโปรตีนพืชที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง แต่ปราศจากคอเลสเตอรอล โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบประกอบด้วย ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นหมึก เส้นปลา ฮือก้วย และสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นกุ้งหรือผลิตภัณฑ์จากกุ้งได้เช่นกัน
ด้านนายธนินท์รัฐ เมธีวัชรรัตน์ กรรมการบริษัท บี ไอ จี เนเชอรัล อินโนเทค จำกัด กล่าวว่า ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเอ็มเทค สวทช. เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพบนความยั่งยืนภายใต้แบรนด์ "FOODFILL" ตอบโจทย์ลูกค้ายุคปัจจุบัน นำร่องด้วย Premix โปรตีนจากพืชชนิดผงสำหรับเชฟและร้านอาหารที่ต้องการควบคุมต้นทุน Precook เนื้อไก่จากพืช และ Ve-Sea ลูกชิ้นปลา ปลาเส้นจากพืช สะดวกในการปรุง รวมถึงการพัฒนา "แกงไทยพร้อมทาน" ที่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้อง ขนส่งง่าย และเก็บรักษาได้นาน 1 ปี
ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารจากโปรตีนพืชในไทย คือ การต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดย FoodFill ใช้แนวทางการตลาดนำการผลิต จึงได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนในการปลูกถั่วพู ในพื้นที่ระหว่างแปลง ในสวนมะพร้าว สวนยางพารา ในอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร แต่ยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติไปแล้ว 14 เป้าหมาย และเราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และองค์กรของเราให้ครอบคลุมครบทั้ง 17 เป้าหมาย เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน