กรมการแพทย์เตือน ดื่มน้ำรากไม้แอฟริกาใต้ มีสาร DMT ผิดกฎหมาย-หลอนประสาท

03 มิ.ย. 2567 | 02:35 น.
อัพเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2567 | 02:57 น.

กรมการแพทย์เตือน พิธีกรรมดื่มน้ำสกัดรากไม้จากแอฟริกาใต้ มีสาร DMT ผิดกฎหมาย-อันตรายต่อสุขภาพ ควรรีบปรึกษาแพทย์และรับการบำบัดโดยเร็ว

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในขณะนี้มีข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันผิดๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน เช่น การเข้าร่วมพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่จะต้องมีการดื่มน้ำสกัดจากรากไม้ที่มาจากแอฟริกาใต้ โดยน้ำสกัดจากสมุนไพรดังกล่าวจะมีสาร DMT (N,N-Dimethyltryptamine) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้มจากการหลอนประสาท สารนี้ในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตจะทำหน้าที่เป็นสารไซโคพลาสโตเจน ส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบประสาท  และสัมพันธ์กับอาการประสาทหลอนที่รุนแรงได้เมื่อรมควัน สูดดม หรือรับประทาน อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและเป็นอันตรายรุนแรงจากอาการหลงผิด สับสนและประสาทหลอนได้ 

สำหรับในประเทศไทย สาร DMT ถูกจัดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีฤทธิ์เสพติด เสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด มีความอันตรายต่อสุขภาพสูง การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ผู้เสพมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรมการแพทย์เตือน ดื่มน้ำรากไม้แอฟริกาใต้ มีสาร DMT ผิดกฎหมาย-หลอนประสาท

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาร DMT มีความอันตรายต่อสุขภาพของผู้เสพ ด้วยอาการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ วิธีการที่ใช้ และสภาพจิตใจของผู้ใช้ บางคนเห็นภาพหลอน บางคนรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะตาย เห็นแสง สี เสียงที่แปลกไป บางคนมีอาการเพ้อคลั่งและประสาทหลอน ขอเตือนประชาชนทั่วไปไม่ควรทดลองดื่มหรือบริโภคอาหาร ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาและส่วนผสมที่ชัดเจน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ 

ในส่วนของผู้ที่มีความคิดอยากทดลองดื่มน้ำสกัดจากรากไม้หรือทดลองใช้สาร DMT จากการชักชวนหรือจูงใจที่พบมากขึ้นในโซเชี่ยลมีเดีย ขอให้ตระหนักถึงอันตรายและศึกษาข้อเท็จจริงจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อที่อาจมีผลต่อชีวิตอย่างรุนแรง หากได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสาร DMT แล้วพบความผิดปกติ สามารถเข้ารับการตรวจประเมิน และรับการบำบัดรักษาจากแพทย์ ที่สถานพยาบาลยาเสพติดใกล้บ้าน โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งได้หรือสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ 

  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลาและ
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี 

นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติด ได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165