นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง คือผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของโรคความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีความผิดปกติ จะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจวัดความดันโลหิตเท่านั้น แต่ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการปวดศรีษะ ตึงบริเวณต้นคอ มึนเวียน ตาพร่ามัวได้ และในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤติ (Hypertensive emergency) คือผู้ที่ค่าความดันโลหิตที่มากกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปร่วมกับมีอาการของระบบใดระบบหนึ่งที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีอาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว มีอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด มีอาการซึม พูดจาสับสน ปวดศรีษะมาก อาเจียนจากภาวะทางสมอง แขน/ขาอ่อนแรงจากภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก หรือภาวะไตวายเฉียบพลัน ถ้าหากมีอาการดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการรักษาในทันที
ด้านการรักษาจะให้ยาทางหลอดเลือดเพื่อลดความดันโลหิตลง ให้ปกติภายในระยะเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยการรับประทานยาเพื่อลดความดันโลหิตให้กลับมาเป็นปกติภายในระยะเวลา 2-3 วัน
หากปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบบต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัว, ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ, เส้นเหลือดใหญ่โป่งพอง, เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณขาหรือแขนอุดตัน และหัวใจล้มเหลว, เกี่ยวกับระบบสมอง ทำให้เกิดเส้นเลือดสมอง/เส้นเลือดที่คอตีบ เส้นเลือดสมองโป่งพองหรือแตก เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต, ในระบบตา ทำให้เกิดผลกระทบกับเส้นเลือดที่บริเวณจอประสาทตาเกิดเลือดออก เส้นเลือดหนาตัวมากขึ้น จนจอประสาทตาบวม ทำให้มีผลกระทบต่อการมองเห็น แต่ส่วนใหญ่แล้วภาวะดังกล่าวจะดีขึ้นหากลดความดันโลหิตลงได้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างถาวร
หากพบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ไปพบแพทย์เพื่อรับยารักษาความดัน และโรคอื่นร่วมด้วย ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มมึนเมา ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายในระดับปลานกลาง อย่างสม่ำเสมอ เช่นการเดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที เลิกสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดจากการทำงาน นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การจี้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงไตผ่านทางสายสวนหลอดเลือด สามารถเสริมการรักษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อยาได้