"พลังงาน-World Bank" ดึงเครื่องมือการเงินลดเสี่ยงวิกฤตพลังงานภาวะสงคราม

20 พ.ย. 2567 | 03:53 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 03:54 น.

"พลังงาน-World Bank" ดึงเครื่องมือการเงินลดเสี่ยงวิกฤตพลังงานภาวะสงคราม ชี้การลดภาระด้านราคาพลังงานเป็นกรอบแผนงานสำคัญในการเตรียมพร้อมและบริหารจัดการวิกฤติพลังงานที่ กบง. เห็นชอบ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) ในการนำเครื่องมือทางการเงินที่รัฐบาลหลายประเทศได้นำมาใช้บริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาพลังงาน 

โดยล่าสุดได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการการใช้เครื่องมือทางการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงเตรียมพร้อมวิกฤตพลังงาน หรือ Workshop on Managing Thailand’s exposure to Oil and LNG Price Risk ซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารโลก 
 

ซึ่งมีผู้แทนจากธนาคารโลกเป็นผู้แทนบรรยายให้ความรู้ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกว่า 60 คน  จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานเอกชนด้านพลังงาน โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมจะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและความผันผวนด้านราคาพลังงานในตลาดโลก

"พลังงาน-World Bank" ดึงเครื่องมือการเงินลดเสี่ยงวิกฤตพลังงานภาวะสงคราม

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปจะศึกษาความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย ทั้งในบริบทด้านกฎหมายกฎระเบียบและการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ในการนำมาเครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงของการเกิดวิกฤติราคาพลังงาน ก็จะมีการศึกษารายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน
 

"การลดภาระด้านราคาพลังงานถือเป็นกรอบแผนงานสำคัญในการเตรียมพร้อมและบริหารจัดการวิกฤติพลังงานที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่เห็นชอบเมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา และให้เร่งขับเคลื่อนให้เกิดผล"  

นายสมภพ กล่าวอีกว่า ผลจากสัมมนาฯดังกล่าว จะถูกนำไปศึกษาความเป็นไปได้ต่อการนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทยทั้งในเชิงกฎหมายและระเบียบ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  และแนวทางการบริหารจัดการ ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศ เพื่อพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับมาตรการจัดการด้านราคาพลังงานของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายภาคประชาชน และเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ