‘บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่’ คึกคัก ร้านยาแห่เข้าร่วม-เภสัชกรขาดแคลน

28 มิ.ย. 2567 | 06:10 น.

จับตา “30 บาทรักษาทุกที่” ปลุกหน่วยบริการเอกชนคึกคัก คาด “ร้านยา” แห่เข้าร่วมเพิ่ม 30-35% ส่งผล “เภสัชกร” ขาดแคลน “สภาผู้บริโภค” เผยปี 67 รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 334 ราย นัดระดมสมองหาแนวทางแก้ปัญหา 29 มิ.ย. นี้

การยกระดับนโยบาย “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสู่ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” หรือ 30 บาทพลัส ถือเป็นการปลดล็อกปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ให้ได้รับการรักษาได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง จังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 42 จังหวัด ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง

ด้วยจุดเด่นที่เปิดโอกาสให้ผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งที่ให้บริการทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็น

1. ร้านยาคุณภาพ ภายใต้สัญลักษณ์ ร้านยาชุมชนอบอุ่น, ร้านยาของฉัน และร้านยาคุณภาพของฉัน ที่มีอยู่รวม 4,810 แห่ง

2. คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 2,006 แห่ง

3. คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 172 แห่ง

4. คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 215 แห่ง

หน่วยบริการที่ให้บริการเฉพาะจังหวัดนำร่อง 45 จังหวัด ได้แก่

1. คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 393 แห่ง

2. คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น 383 แห่ง

3. คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น 119 แห่ง

ซึ่งในระยะที่ 4 จะขยายการให้บริการ “30 บาทรักษาทุกที่” ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสของหน่วยบริการต่างๆ ที่สามารถเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะ “ร้านยา”

เภสัชกรสุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชุมชนเภสัชกรรม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ร้านยาเป็นด่านแรกของระบบสุขภาพพื้นฐาน ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นสำหรับการรักษา 16 โรคพื้นฐานได้ฟรี โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ร้านยาจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับชุมชน โดยโครงการนี้จะส่งผลดีต่อร้านยาหลายประการ

คือ 1. จำนวนผู้เข้าใช้บริการร้านยาจะเพิ่มขึ้น ประชาชนจะสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงยาที่จำเป็น 2. ภาพลักษณ์ของร้านยาจะดีขึ้น ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ว่ารัฐจะมีค่าใช้จ่ายที่แบกรับมากขึ้นแต่ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นสวัสดิการของประชาชนซึ่งประชาชนก็จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยรัฐบาลก็มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายการเบิกจ่ายให้ต่ำลง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

‘บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่’ คึกคัก ร้านยาแห่เข้าร่วม-เภสัชกรขาดแคลน

ปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมโครงการประมาณ 5-10% ของร้านยาที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วประเทศ คาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีร้านยาเข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 30-35% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของร้านยาที่มีอยู่ โดยผู้มีสิทธิ์สามารถใช้บัตรทองเบิกยาที่ร้านยาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนและบัตรทองกับเภสัชกร ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากร้านยาเป็นระบบพื้นฐานที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว การเบิกยาที่ร้านยาช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

“รายได้ของร้านยาและของโรงงานยาไม่ได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร้านยาที่ให้บริการในลักษณะนี้ จะถูกจำกัดโดยมูลค่า หรือราคาการรักษาที่มีราคาไม่แพง ซึ่งแต่เดิมที่จะให้บริการได้เงินเข้ามามาก กลายเป็นว่าเงินที่มาต่อร้านน้อยลง เพราะภาครัฐกำหนดราคาให้ต่ำเนื่องจากเป็นการบริการประชาชนโดยรัฐเป็นคนจ่ายค่าใช้จ่ายเท่ากับว่ากำหนดราคาซื้อขายทั้งประเทศเป็นราคาต่อหน่วยที่ต่ำ แต่ร้านยาจะได้รับโอกาสการที่ประชาชนเข้าร้านมากขึ้นประมาณ 30-40% ทำให้มียอดขายเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมียอดผู้ป่วยมากขึ้น 30 - 40%”

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกคาดว่า เภสัชกรจะขาดแคลน เนื่องจากความต้องการเภสัชกรในร้านยาเพิ่มมากขึ้น ประชาชนสามารถเบิกจ่ายยาแผนปัจจุบันผ่านร้านยาได้โดยตรง ส่งผลต่อความต้องการเภสัชกรประจำร้านยาที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการแย่งชิงตัวเภสัชกรร้านยาที่เปิดใหม่ ต่างก็ต้องการเภสัชกรที่มีคุณภาพ อาจจะเกิดการแย่งชิงตัวเภสัชกรที่มีอยู่ ส่งผลต่อภาวะขาดแคลน ซึ่งแนวทางระยะยาวคือการผลิตเภสัชกรเพิ่มขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถรองรับและเพิ่มจำนวนเภสัชกรที่มีคุณภาพออกมาสู่ตลาดได้มากขึ้น เพราะตลาดยังมีความต้องการเภสัชกร กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ

เภสัชกรสุรชัย กล่าวอีกว่า เนื่องจากร้านขายยาเป็นกิจการขนาดเล็ก ไม่สามารถซื้อยาในปริมาณมากเท่ากับโรงพยาบาลได้ ดังนั้นการซื้อยาเข้าร้านจะมีต้นทุนที่สูงกว่า ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ร้านยาต้องเผชิญ ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาความแตกต่างของต้นทุนยาที่เข้ามายังร้านยา ให้เหมาะสมเพื่อให้ร้านขายยาสามารถดำเนินกิจการอยู่ต่อไปได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนรวม

‘บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่’ คึกคัก ร้านยาแห่เข้าร่วม-เภสัชกรขาดแคลน

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นมองว่าการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่นั้น ไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมยา เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับทางอุตสาหกรรม เนื่องจากเราจะต้องกระจายยาให้กับร้านย่อยแทนที่จะกระจายไปจุดเดียว แทนที่จะส่งจุดเดียวในราคาต่ำ แต่กลับกลายเป็นส่งเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยจุดในราคาที่ใกล้กัน อาจจะส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น สำหรับวิธีแก้ไข อาจจะต้องกระจายยาไปยังผู้ค้าส่งในระดับจังหวัดและให้ผู้ค้าส่งดำเนินการกระจายยาในพื้นที่แทน

ทั้งนี้หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่องจังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ. 2567 โดยมีรายชื่อทั้งสิ้น 42 จังหวัด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในลำดับที่ 42 ด้วยนั้น พบว่า ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถใช้บริการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ได้

โดยนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ชี้แจงว่า ในส่วนของ กทม. นั้น ยังไม่ได้เริ่มตามแนวทาง 30 บาทรักษาทุกที่ โดยขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ทั้งในส่วนของการเตรียมงบประมาณ การเชื่อมต่อระบบบริการ และการจัดเตรียมหน่วยบริการเพื่อให้การดูแลประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม. เป็นพื้นที่มีความซับซ้อน ทั้งในด้านประชากรและจำนวนหน่วยบริการที่ไม่เพียงพอ

ปัจจุบัน สปสช.ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ดำเนินการเชิญชวน ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนประเภทต่างๆ เข้าร่วมดำเนินการเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

‘บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่’ คึกคัก ร้านยาแห่เข้าร่วม-เภสัชกรขาดแคลน

นอกจากไปรักษาได้ที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิแล้ว ยังเข้ารับการรักษาที่หน่วยนวัตกรรมที่เข้าร่วมกับ สปสช. ทั้งนี้ประชาชนสามารถไปใช้บริการนอกเวลาราชการ หรือหลังเลิกงานได้ หรือตามเวลาเปิดทำการของคลินิกเอกชนประเภทต่างๆ

ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ที่ผ่านมาสภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากบริการด้านสุขภาพ ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะ สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ฯลฯ จำนวนมาก เช่น สิทธิบัตรทองได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามารวม 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2567 รวม 1,572 ราย เฉพาะปี 2567

จนถึงตอนนี้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวน 334 ราย โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วยบัตรทอง คือ ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ถูกเรียกเก็บเงินยานอกบัญชี ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง ถูกเรียกเก็บค่าบริการนอกเวลา ระบบส่งต่อส่งตัวไม่ได้ เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายเงินจากรูปแบบการจ่ายตามรายการ เป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามข้อเสนอของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีการเรียกร้องก่อนหน้านี้ โดยปรับรูปแบบการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าการจ่ายเงินมีผลต่อบริการ เพราะคลินิกรู้สึกว่ารูปแบบนี้ได้เงินน้อยลง อาจไม่คุ้มหากยิ่งมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ทำให้ต้องจ่ายเงินสูงขึ้น ประกอบกับคลินิกมองว่ามีศักยภาพในการรักษา

อย่างไรก็ดี สภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมจัดระดมสมองจากเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาบริการด้านสุขภาพในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ณ โรงแรมเดอะ บาซาร์ แบงค็อก