20 มิถุนายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขตอนหนึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วันนี้โดยได้กล่าวขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้วิพากษ์งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข
โดยผู้อภิปรายหลายคนเห็นว่า งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขยังน้อยเกินไปซึ่งในส่วนของรัฐบาลนั้นขอยืนยันว่า ได้ผลักดันให้เพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่แต่ยังไม่เพียงพอตามที่ สส.ได้อภิปรายไป อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่ต้องบริหารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น นายสมศักดิ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลเด็กมีงบประมาณจากหลายหน่วยงานซึ่งไม่ใช่จากกรมอนามัยเพียงอย่างเดียวยังเกี่ยวข้องกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่ต้องดูแลความสมบูรณ์ของทารกด้วย ซึ่งมีเด็กเกิด 4.5 แสนคนแต่มาใช้บริการตรวจความสมบูรณ์ 1.8 แสนคน
ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องบูรณาการให้ครบถ้วน รวมถึงแก้ปัญหาการมีบุตรน้อยอีกด้วยเพราะปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1.2 คนทั้งที่ควรมี 2.1 คน
เรื่องยาเสพติด ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เปลี่ยนแนวทางให้สันนิษฐานยาบ้า 1 เม็ด เป็นผู้เสพ แต่ครม.ได้เพิ่มว่า ต้องสอบสวนด้วยถึงจะได้รับสิทธิบำบัดเพื่อจะได้รู้ว่า ผู้ค้าคือใคร เพื่อขยายผลไปสู่การยึดทรัพย์ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่บำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยเข้าบำบัดปีละ 1.1 แสนรายแต่ถ้าใช้กฎหมายครบก็จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
ส่วนกรณีรถกู้ภัย สพฉ.กำลังดูอยู่ เพราะได้รับทราบว่า รถกู้ภัยยังไม่ครบทุกตำบลจึงจะพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฉ. กับ อบต. รวมถึงจากการไปเยี่ยม พบว่า บางครั้งมีปัญหารถปลอมเข้ามาจึงจะแก้ด้วยการให้กรมขนส่งทำทะเบียนพิเศษให้
ประเด็นของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นั้น กระทรวงสาธารณสุขทำแผนไว้แล้วโดยในปี 2577 เราประเมินว่า แพทย์ควรมีเพิ่มอีก 41,000 คน พยาบาล 57,000 คน เห็นด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก จึงพร้อมสนับสนุนให้นำข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก กพ. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานหนัก รวมถึง อสม.ก็เป็นกำลังสำคัญจึงอยากทำกฎหมายให้ อสม.มีความยั่งยืนและมีที่ยืนจึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วยกันทำให้ อสม.มีความยั่งยืนด้วย
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว งบประมาณ 167,753 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระบบรักษา ลดแออัด ลดเดินทาง และยกระดับดิจิทัลสุขภาพ พร้อมเพิ่มเหมาจ่ายรายหัว จาก 3,472 บาท/คน เป็น 3,844 บาท/คน
2.แก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดอย่างบูรณาการ งบประมาณ 1,330 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษา และดูแลผู้ป่วยตามระดับอาการ
3.การแพทย์ปฐมภูมิ และ อสม. โดยยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ 2,700 แห่ง งบประมาณ 2,520 ล้านบาท เสริมความเข้มแข็ง อสม. เพื่อคัดกรองสุขภาพเชิงรุก และค่าป่วยการ งบประมาณ 25,800 ล้านบาท
4.Medical & Wellness Hub เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพเพราะมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนมูลค่าเศรษฐกิจสมุนไพรในตลาดโลก 1.7 ล้านล้านบาท จึงตั้งงบประมาณ 905 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนแพทย์แผนไทย
5.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับการใช้เทคโนโลยี และการศึกษาวิจัย งบประมาณ 10,298 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ