เจาะ 4 กลุ่มดาวเด่น ตลาด Future Food Functional Foods เติบโตสุด

28 มิ.ย. 2567 | 22:30 น.

“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เผยศักยภาพผู้ประกอบการ รับเทรนด์อาหารอนาคต ชู 4 กลุ่มอาหารเด่น “Functional Foods” เติบโตสูงสุด ตามด้วย Alternative Protein อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ Oranic Food อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล คาดตลาดเติบโตได้ 5-10%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารระดับโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก มีสัดส่วนการผลิตที่ใช้บริโภคในประเทศ 70% และส่งออก 30% แต่อาหารที่ส่งออกมีความแตกต่างและ หลากหลายมากกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่ ซึ่งในตลาดโลกเป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่าและกำลังซื้อสูง เต็มไปด้วยการแข่งขัน ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคให้ดี เพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และนับตั้งแต่ผ่านช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับอาหารการกินมากขึ้น

โดย 7 เมกะเทรนด์อุตสาหกรรมการผลิตอาหารของโลก ได้แก่

  1. อาหารปลอดภัย
  2. อาหารเพื่อผู้สูงวัย
  3. อาหารจากท้องถิ่น
  4. อาหารที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร
  5. อาหารทางเลือก
  6. อาหารจากจุลินทรีและสาหร่าย
  7. การใช้อาหารเป็นยา หรือ food as medicine

สำหรับผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า มีความสามารถผลิตอาหารได้หลากหลาย โดยเฉพาะใน4 กลุ่ม ได้แก่ 1. อาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการเติบโตดีที่สุด คือ 90% เพราะผู้บริโภคสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่ายระดับราคาไม่สูงมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมสร้างกล้ามเนื้อหรือมวลกระดูก อาหารที่มีโพรไบโอติก ดีต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น โยเกิร์ต เป็นต้น

2. อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์ (Alternative Protein) มีสัดส่วนประมาณ 5% เป็นกลุ่มที่ผู้ผลิตพยายามผลักดันให้เป็นจุดเด่นของประเทศไทย เพื่อนำมาทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ เพราะสภาพแวดล้อมในอนาคตการผลิตเนื้อสัตว์จะลดลง ด้วยภาวะของโรคระบาดที่กลายพันธุ์ตลอดเวลา ภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชที่นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์

เจาะ 4 กลุ่มดาวเด่น ตลาด Future Food Functional Foods เติบโตสุด

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ทำให้คนรักสุขภาพเกิดความกังวลเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการได้โปรตีนที่ผสมกับไขมันที่ไม่มากเกินไป การกินเนื้อสัตว์ต่อเนื่องจะทำให้เกิดเป็นมะเร็ง ฉะนั้นคนจึงหันมาสนใจอาหารที่ทำมาจากพืช (Plant based food) หรือ แมลง (Insect-based) เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องโปรโมทให้ดี เพราะผู้บริโภคบางคนยังกลัวแมลงอยู่

3. อาหารออร์แกนิก (Oranic Food) สำหรับประเทศไทยกลุ่มนี้เติบโตค่อนข้างช้าและมีสัดส่วนน้อยที่สุด เพราะกระบวนการต่างๆ กว่าจะได้มาซึ่งอาหารออร์แกนิกต้องใช้เวลาพอสมควร และ 4. อาหารทางการแพทย์ (Medical Food)และอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) เป็นเทรนด์ที่มาแรง เพราะจะเกี่ยวกับการใช้อาหารเป็นยา อาหารสำหรับผู้ป่วย สำหรับคนที่ไม่ป่วยแต่เฝ้าระวังไม่ให้ป่วย ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs (non-communicable diseases) รวมทั้งอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ผู้สูงวัย และทารก

“อาหารสุขภาพในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเท่ากับสัดส่วนอาหารสุขภาพที่ส่งออกไปทั่วโลก และเติบโตใกล้เคียงกับอาหารทั่วไป จากผู้บริโภคที่มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริโภคอาหารปกติและกลุ่มผู้บริโภคอาหารที่ค่อนข้างใส่ใจต่อสุขภาพ สอดคล้องไปกับเทรนด์ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องมีอาหารเฉพาะ กินแล้วย่อยง่ายแต่ได้สารอาหารครบถ้วน อาจจะต้องคำนึงถึงการบดเคี้ยว การกลืนง่าย บรรจุภัณฑ์ต้องสะดวก ซึ่งผู้ประกอบการไทยเริ่มหันมาสนใจทดลองทำอาหารสุขภาพมากขึ้นประมาณ 10% จากผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ 1.2 แสนราย โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ เพราะเข้าถึงง่าย แค่ดูแลเรื่องความหวาน มัน เค็ม ในการผลิตให้ได้”

โดยสภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยต้องปรับตัว ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภค และการผลิตจะมองแค่ตลาดในประเทศไทยไม่ได้ ต้องมองไปยังความต้องการของประชากรโลกด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องความขัดแย้งจากภาวะสงคราม ที่จะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนและเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศสามารถทำเนื้อสัตว์ด้วยการเพาะเลี้ยงจากห้องแลป (Cultured meat) ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เช่น สิงคโปร์

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันวิธีคิดของผู้บริโภคคนไทยกับทางยุโรปจะแตกต่างกัน ในยุโรปการซื้อสินค้าแต่ละชนิดจะต้องรู้ที่มาว่า กระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งพื้นฐานการรับรู้ของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การบริโภคแบบวีแกน (Vegan) ฝั่งยุโรปเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ขณะที่ประเทศไทยก็มีผู้บริโภคกลุ่มนี้เช่นกัน รวมถึงการกินเจหรือกินมังสวิรัติ กินตามความเชื่อทางศาสนา แม้ไม่มีสถิติว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่อัตราการเติบโตน่าจะมากกว่า 5% ต่อปี

นอกเหนือจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องควบคุมการกิน และเป็นกลุ่มที่เลือกกินพืชผักมากกว่าเนื้อสัตว์ที่จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เรียกว่าการกินอาหารแบบ Flexitarian (Flexible + Vegetarian) ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของอาหารอนาคตและอาหารทางเลือกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการทั้งคนรุ่นใหม่-รุ่นเก่า รวมทั้ง SMEs เริ่มมองเห็นตลาดและโอกาสตามเทรนด์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้น

โดยผู้ประกอบการไทยมีการส่งออกอาหารอนาคต (Future Food) อยู่ในสัดส่วนประมาณ 10% คิดเป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท จากอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท โดยตัวเลขล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารราว 3.7 แสนล้านบาท เติบโต 2.79% กลุ่มสินค้าเกษตรอาหารมีมูลค่าส่งออก 1.75 แสนล้านบาท เติบโต 8% กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่าส่งออก 1.97 แสนล้านบาท โดยทั้งปี 2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าราว 1.55 -1.6 ล้านล้านบาท หรือเติบโตราว 3 % เมื่อเทียบกับปี 2566

“อย่างไรก็ตาม นิยามของเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม และมีนวัตกรรม ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างน้อยน่าจะเห็นการเติบโต 5% หากเศรษฐกิจดีอาจถึง 10% ซึ่งผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลด้านต้นทุนการผลิต ทั้งการปรับค่าแรง ต้นทุนพลังงาน ดอกเบี้ย นโยบายที่ยังคงทรงตัวระดับสูง อัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงทุกเส้นทาง ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร รวมถึงโอกาสและปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย” นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวในตอนท้าย