กรมอนามัย ผนึก 4 พันธมิตร เคลื่อนนโยบายด้านอาหารของประเทศ

09 ก.ค. 2567 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 04:50 น.

กรมอนามัย ร่วมกับ 4 หน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2570 ขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการ ตั้งเป้าให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีภาวะโภชนาการที่ดีอย่างยั่งยืน

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้ ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นผู้แทนกรมอนามัยเข้าร่วมพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บูรณาการระดับนโยบาย 4 หน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย

ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ระหว่างกรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐาน สินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  
     
ทั้งนี้ ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นโครงสร้างหลักของประเทศในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านอาหารทุกมิติที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ภาคการเกษตร สู่การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ เชื่อมโยงให้เกิดผลลัพธ์ภาวะโภชนาการที่ดี

โดยกรมอนามัยเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเป้าหมายสำคัญ คือ ลดจำนวนคนที่มีภาวะทุพโภชนาการขาดและเกินลงภายใต้การกำกับของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย

ผลลัพธ์ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 8.5 จากเป้าหมายไม่เกินร้อยละ 9 และวัยเรียนอายุ 6 - 14 ปีมีภาวะเตี้ยร้อยละ 9.4 ค่าเป้าหมายไม่เกินร้อยละ 10 และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังคงพบปัญหาภาวะเตี้ยและผอมในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

กรมอนามัย ผนึก 4 พันธมิตร เคลื่อนนโยบายด้านอาหารของประเทศ

ส่วนวัยเรียนต่อเนื่องไปจนถึงวัยทำงานมีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรค NCDs การขับเคลื่อนด้านอาหารและโภชนาการจึงจำเป็นต้องความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาโภชนาการดังกล่าวให้ถึงระดับพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน และประชาชนทุกครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานส่งเสริมด้านอาหาร และโภชนาการมีประสิทธิผล กรมอนามัยจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อดำเนินงานแบบบูรณาการให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีภาวะโภชนาการดี สามารถดูแลตนเองได้ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีภาวะโภชนาการที่ดีอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้กรมอนามัยยังขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะอนุกรรมการ 3 คณะแรกเพื่อลดคนขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการ โดยจัดทำแนวทางหรือมาตรการในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาโภชนาการทุกกลุ่มวัย คณะที่ 2 พัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน

มีการติดตามการจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพรวมทั้งผลักดันให้เกิดนักโภชนาการในท้องถิ่นและอีกหนึ่งคณะคือพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย หรือ Healthier Choice Logo ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

คาดหวังจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลักในครั้งนี้จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งพร้อมทั้งการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีภาวะโภชนาการที่ดีอย่างยั่งยืน สร้างสังคมที่มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป