‘ศัลยกรรม’ชะลอตัว คนรวยบินทำสวยเกาหลี

12 ก.ค. 2567 | 02:46 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 03:03 น.

พิษเศรษฐกิจฉุด “ตลาดศัลยกรรม 7 หมื่นล้าน” ชะลอตัว สวนกระแสโรงพยาบาลใหญ่แห่ลงทุนเพิ่ม ขณะที่กลุ่มคนมีเงินบินไปทำสวยเกาหลี แนะ “รัฐ” ผ่อนปรนโฆษณา เปิดทางลูกค้าเข้าถึงข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นในฝีมือแพทย์ไทย เผยหลังโควิด พบผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นกว่า 4,000 ราย

แม้ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามของไทยในปีที่ผ่านมาจะขยายตัว 2.3-3.6% ส่งผลให้มีมูลค่ารวมราว 7.1-7.2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่ข้อมูลจาก SCB EIC Health & Wellness survey 2023 ยังระบุว่า ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามมีโอกาสเติบโตสูงจากกระแสนิยมของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ LGBTQIA+ ซึ่งผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมส่วนใหญ่ทำมากกว่า 1 ประเภท โดยศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ จมูก ดวงตา และดูดไขมัน แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด 

ผศ.นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP ผู้บริหารสถานพยาบาลด้านคลินิกเวชกรรม “ธีรพรคลินิก” เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจศัลยกรรมไทยเติบโตดีต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่อดีต แม้ธุรกิจส่วนอื่นจะชะลอตัวตลาดศัลยกรรมก็ยังเติบโตอยู่ จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ แต่หลังจากช่วงโควิด-19 จะสังเกตได้ว่ามีการกระเตื้องขึ้นแบบก้าวกระโดด ก่อนชะลอลงและทรงตัวอยู่ในปัจจุบัน

‘ศัลยกรรม’ชะลอตัว คนรวยบินทำสวยเกาหลี

สถานการณ์ดังกล่าวมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลก แม้หลายโรงพยาบาลจะหันมาเปิดตัวลงทุนหลากหลายสาขา บุกตลาดศัลยกรรมมากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในประเทศไทยคนอยากทำศัลยกรรมก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วกำลังซื้อกลับไม่มากพอ และธุรกิจศัลยกรรมยังเป็นธุรกิจฟุ่มเฟือย กลุ่มลูกค้ามีอยู่หลายระดับตามคุณภาพราคาที่แตกต่างกัน

ลูกค้าในตลาดบนจะเน้นความปลอดภัยและได้มาตรฐานซึ่งราคาสูง กลุ่มตลาดกลางมีไม่มากเพราะคิดถึงภาระการใช้จ่ายส่วนอื่นมากกว่าการจ่ายเงินเพื่อศัลยกรรม ในขณะที่ตลาดล่างจะราคาถูกและมีความเสี่ยงสูง เพราะทำโดยแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์จบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ราคามักอยู่ในหลักพันบาทและเล่นสงครามราคาแข่งกันอย่างดุเดือด ยกตัวอย่าง การฉีดโบท็อก ให้วิตามิน ตลาดนี้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ยังสามารถเติบโตได้ดีจากกลุ่มอาชีพเด็กเสิร์ฟ พริตตี้ หรืออาชีพที่ต้องใช้หน้าตา

‘ศัลยกรรม’ชะลอตัว คนรวยบินทำสวยเกาหลี “ตลาดศัลยกรรมในไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวและเติบโตต่อไปได้ ถ้าปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับบางประการให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูล และแพทย์ต้องสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านสื่อโซเชียลมีเดียให้คนรับรู้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันแนวโน้มการทำศัลยกรรมเพิ่มสูงขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะการฉีดสเต็มเซลล์และดึงหน้ากำลังเป็นเทรนด์มาแรง ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งของตลาดศัลยกรรมในอาเซียน แต่กลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงที่เป็นคนไทยจะไม่เลือกทำศัลยกรรมที่ไทย”

ผศ.นพ.ชลธิศ กล่าวว่า ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง มักบินไปทำศัลยกรรมในต่างประเทศอย่างเกาหลีใต้ โดยรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากการโปรโมทและกระแสของตลาดเกาหลีโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งมีอิทธิพลสูง และส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลด้านความสวยความงามและแฟชั่นจากคนดังที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ เช่น ยูทูบเปอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ บางคนอาจเป็นนายหน้าที่จะได้ส่วนต่างจากค่าใช้จ่ายของลูกค้า ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ตลาดศัลยกรรมไทยไม่สามารถทำได้เพราะผิดกฏหมาย

‘ศัลยกรรม’ชะลอตัว คนรวยบินทำสวยเกาหลี

“ที่จริงในทางการแพทย์การผ่าตัดศัลยกรรม ต้องเผื่อใจไว้ว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรือปลอดภัย 100% เช่นเดียวกับการผ่าตัดรักษาโรค ฉะนั้นการเดินทางไปทำศัลยกรรมในต่างประเทศหรือทำในประเทศมักไม่ต่างกันมากนัก บางครั้งชาวต่างชาติก็บินมาทำศัลยกรรมในไทยโดยเฉพาะคนไทยจากต่างประเทศ เพราะมีความเชื่อมั่นในแพทย์ไทยมากกว่าประเทศอื่น อีกทั้งศักยภาพของหมอศัลยกรรมในไทยเรียกได้ว่ามีความเชี่ยวชาญและเก่งกว่าประเทศเกาหลีด้วยซ้ำ แต่กฎหมายควบคุมการโฆษณาเข้มงวด ไม่สามารถผลักดันธุรกิจได้เท่าเกาหลี และกระทรวงสาธารณสุขยังมองไม่เห็นแนวทางการแก้ไขจุดนี้

จากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมานานกว่า 40 ปี มั่นใจว่านวัตกรรมการศัลยกรรมของแพทย์ไทยไม่แพ้แพทย์ในต่างประเทศแน่นอน โดยธีรพรคลินิกมีจุดแข็งคือทีมแพทย์ที่ล้วนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญการศัลยกรรมเฉพาะอวัยวะ ความสามารถเฉพาะเจาะจงแตกต่างจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการศัลยกรรมทั่วไป มีลูกค้าคนไทยสัดส่วน 71% ต่างชาติ 29% โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV กำลังซื้อสูงสุดคือกัมพูชา เมื่อเทียบกับสถานการ์ตลาดศัลยกรรมในประเทศไทยถือว่าทรงตัวและมีแนวโน้มเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจ”

‘ศัลยกรรม’ชะลอตัว คนรวยบินทำสวยเกาหลี

ดร.สุรีย์พร ไพศาลโรจน์ ผู้บริหารสุรีย์พรคลินิก (Sureephorn Clinic) และจันทรัตน์คลินิก (Jantarat Clinic) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า คลินิกความงามมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการดั้มราคาให้ถูกลง เพื่อดึงลูกค้า ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ คุณภาพที่ลดลง และหากไม่ประทับใจก็จะไม่กลับมาใช้บริการอีก

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมหายไปกว่า 50% ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยในปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย โดยเฉพาะกลุ่มทุนเกาหลีที่เข้ามาเปิดให้บริการไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน