Lifestyle Medicine ปลดล็อกคนไทยจากโรค NCDs

20 ก.ค. 2567 | 04:00 น.

คนไทยที่เสียชีวิตด้วยโรค NCDs สูงถึง 4 แสนคนต่อปี มากกว่าอัตราการเกิดของประชากร เป็นปัญหาใหญ่ในระบบสุขภาพ ชู “เวชศาสตร์วิถีชีวิต“ อีกหนึ่งทางเลือกช่วยได้

สถิติคนไทยที่เสียชีวิตด้วยโรค NCDs สูงถึง 4 แสนคนต่อปี มากกว่าอัตราการเกิดของประชากร โดยอันดับ 1 คือโรคเส้นเลือดในสมอง ขณะเดียวกันยังพบว่า มีการใช้ยามากที่สุดในโรคเบาหวานและความดันโลหิต ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระบบสุขภาพของไทย ทำให้วันนี้มีการพูดถึงศาสตร์ในการรักษาด้วย เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) อีกหนึ่งทางเลือกและเป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์” คณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้บุกเบิก การรักษาด้วย เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ในเมืองไทย

“ดร.นพ.พรเทพ” เล่าให้ฟังว่า จากรายงานขององค์กรอนามัยโลกปี 2565 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs มากถึง 3.8 แสนคน/ปี หรือเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 80% เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 14% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด และที่พบมากที่สุดคือ อันดับ 1.โรคเส้นเลือดในสมอง โดยเส้นเลือดจะเกิดการอุดตัน ตีบ หรือแตก 2.โรคไต 3.โรคอัลไซเมอร์ 4.โรคติดเชื้อ และ 5.โรคหัวใจและหลอดเลือด หากป่วยเป็นโรคเหล่านี้ขั้นรุนแรงแล้วไม่เสียชีวิตก็มีสิทธิพิการตลอดชีวิต

Lifestyle Medicine ปลดล็อกคนไทยจากโรค NCDs ต้นเหตุปัญหาสุขภาพของคนไทยที่เป็นจุดกำเนิดของโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาจาก “ความอ้วน” โดยพบสัดส่วนคนที่มีภาวะอ้วนอยู่ 3 ใน 4 คน ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้ร่างกายอ้วนจนเกิดโรค

“ปกติคนเราจะต้องเดินขั้นต่ำเฉลี่ย 4,000 -5,000 ก้าว/วัน แต่คนไทยส่วนใหญ่เดินเพียง 500 - 600 ก้าว/วัน หลังจากนั้นจะนั่ง กิน นอน และไม่ออกกำลังกายจนเกิดโรคอ้วน ซึ่งประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากฟิลิปินส์ นอกจากนี้ยังมีความเครียดสูง พฤติกรรมการนอนไม่หลับการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ทุกอย่างล้วนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรัง และจากสถิติเดิมมาจนถึงปัจจุบันน่าจะมีอัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากถึง 5 แสนคน/ปี มากกว่าการเกิดของประชากร ในขณะที่การเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs เริ่มหายากมากขึ้น”

โดยวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต ที่จัดทำโดยกรมอนามัย เป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยป้องกันการเกิดโรค NCDs ด้วยการใช้การแพทย์ที่แม่นยำและมีหลักฐานยืนยันเพื่อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลักสูตร Lifestyle Coach แนะนำการกินอย่างถูกต้อง ทำให้น้ำหนักลดและเกิดโรคน้อยลง กระทั่งรักษาโรคกลุ่ม NCDs ได้โดยไม่ต้องใช้ยา เช่น คนไข้ที่เป็นเบาหวาน มักเกิดจากการกินอาหารที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะกินแป้งมากเกินไป กินหวานมากเกินไป รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย เกิดน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ อินซูลินไม่ทำงานจนเป็นโรคเบาหวาน แน่นอนว่าลำดับแรกคือ 1.ต้องปรับเรื่องการกิน 2.ออกกำลังกาย 3.เลิกเหล้า และบุหรี่ 4.ปรับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

ดร.นพ.พรเทพ เล่าให้ฟัง อีกว่า ความอ้วนเป็นอาการเริ่มแรกทำให้เกิดโรค NCDs ฉะนั้น การลดน้ำหนักจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากลดน้ำหนักได้จะช่วยลดการปวดข้อ ปวดเข่า ปวดขา ร่างกายไม่ต้องรับภาระหนักมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องลดความเครียด เลิกกินของมัน ของทอด ซึ่งแพทย์หรือ Lifestyle Coach ที่อาจจะไม่ใช่แพทย์แต่เป็นอาสาสมัครชุมชน ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนจากกรมอนามัยแล้ว ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ป่วย (Motivation Interview) แม้การดำเนินงานจะทำได้ยากแต่ก็สามารถทำได้อยู่บ้าง เพราะหากไม่ทำเลยจะทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง เช่น แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ พยายามปรับพฤติกรรมจาก 10 คน และอาจเลิกสูบบุหรี่ได้จริงได้เพียง 3 คน

Lifestyle Medicine ปลดล็อกคนไทยจากโรค NCDs

นอกจากนี้ องค์ความรู้ในสาขาวิชาที่ควรปฏิบัติให้ได้คือ 1.ต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 35 นาที/วัน ให้ได้เหงื่อและเอ็นโดฟินหลั่ง 2. ต้องออกสู่แสงแดดวันละ 15 นาที 3.ต้องกินอาหารที่มีแม็คนีเซียมและโปรตีน 4. ต้องนอนให้โกรทฮอร์โมนหลั่งในช่วง 22.00 - 02.00 น.

“ในอดีตคนไทยกินผักผลไม้เยอะ กินผักต้มจิ้มน้ำพริกกะปิ มีสุขภาพดี อายุยืนถึง 80 ปี ต่างจากปัจจุบันที่กินสเต็ก ของปิ้งย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงชูรส อายุ 10 ขวบก็เริ่มเป็นโรคอ้วนและความดันสูง เมื่ออายุ 20 ปี ก็พบโรคไตวายเพิ่มขึ้น พออายุ 30 ปีขึ้นไปเกิดอาการหัวใจวาย พอเข้าสู่ช่วงอายุ 50 ปี ก็เสียชีวิต”

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ไว้เพื่อให้เห็นว่า หากประชากรไทยไม่ดูแลเรื่องพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การกินเหล้า สูบบุหรี่ และการนอนหลับ จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรค NCDs ส่วนใหญ่จะต้องกินยาตลอดชีวิต และกินยาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคที่พบมากที่สุดอย่างเบาหวาน ความดันสูง และมะเร็ง

แม้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค NCDs จะทำได้ยากแต่ต้องทำเพื่อรักษาชีวิตไว้ เพราะหากไม่เปลี่ยนนานไปจะเกิดยีนส์ผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งได้ มีสิทธิเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทั้งยังจะมีคนอายุสั้นมากขึ้น หากสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยของผู้ป่วยได้จะช่วยให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตดีขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจัดคลินิกให้ชาวบ้านและคนในชุมชนมารวมกลุ่มรับฟังความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เกิดความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพันธุกรรมเป็นสารตั้งต้นหรือมีความเสี่ยงจากพันธุกรรม เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางยีนส์เพียงเล็กน้อยยังสามารถรักษาทันและไม่เป็นโรค ซึ่งการตรวจยีนส์ขั้นพื้นฐานจะเป็นข้อมูลของประชากรในแต่ละประเทศที่ทั่วโลกกำลังปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังเป็นแนวทางสร้างศูนย์เวลเนส สร้างเศรษฐกิจ ดึงต่างชาติเข้ามาใช้บริการได้ด้วย

“การดูแลป้องกันและรักษาโรค NCDs ในรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ใช้แนวทางเหล่านี้มานานกว่า 20 ปี Lifestyle Medicine ก็มีรูปแบบมาจากยุโรป และประเทศไทยกำลัง
พัฒนาไปยังจุดนั้น เพราะตอนนี้เรียกว่าสุขภาพของคนไทยอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ แม้ประชาชนเริ่มตระหนักรู้แต่ก็ยังทำยากเพราะยังไม่เห็นความสำคัญ ยังคงต้องให้ความรู้ผ่านสื่อสารมวลชนนำมาซึ่งการลดการกิน หวาน มัน เค็ม เปิดอบรม Lifestyle Coach ผ่านกรมอนามัยให้มากขึ้น เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางรอดของคนไทยที่ทำได้แต่ต้องเร่งปรับพฤติกรรม

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของคนไทยถือว่าดีขึ้นมาก แต่คงจะต้องใช้เวลา 5-10 ปี หากจะลดอัตราการเกิดโรค NCDs ได้ เพราะปัญหานี้สะสมมานาน หลายคนกินยาเกิน 10 ปีแล้ว แก้ไขเยียวยาได้ยาก หวังว่าคนเจนเนอเรชั่นใหม่จะเปลี่ยนพฤติกรรม และเริ่มมีความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ” ดร.นพ.พรเทพ กล่าวในตอนท้าย