วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day: WDPD 2024) 25 กรกฎาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดเวทีสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย โดยมีผู้บริหารทุกภาคส่วน เข้าร่วม ที่เดอะพอร์ทอล บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติและสมัชชาอนามัยโลก เห็นพ้องต้องกันว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 – 14 ปี จึงมีมติให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำโดยเร่งด่วนซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทย ได้ดำเนินงานเพื่อลดการเสียชีวิต จากการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ผู้ก่อการดี หรือ มอร์-ริท เมคเกอร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของจิตอาสาในชุมชน ช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับสมาชิกในชุมชน ตั้งแต่สอนว่ายน้ำไปจนถึงการทำ CPR โดยทีมผู้ก่อการดี กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกและถือเป็นกำลังสำคัญ ที่ช่วยให้ประเทศไทย สามารถลดการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ จากประมาณ 1,500 คน ในปี 2548 เหลือประมาณ 615 คน ในปีปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจำนวนจะลดลงกว่าร้อยละ 60 แต่ตัวเลขนี้ยังคงสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 290 คนต่อปี ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้น วันนี้ผมจึงมีความยินดีที่ได้มาพบปะทุกท่านเพื่อขอบคุณที่ร่วมทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจมน้ำ ตามสโลแกนวันป้องกันการจมน้ำโลก "จมน้ำง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย"
โดยการมอบรางวัลการประเมิน ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับทุกท่าน และขอบคุณที่ร่วมทำงานจิตอาสา เพื่อยกระดับการป้องกันการจมน้ำให้ได้ตามค่าเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป
พร้อมกันนี้ นายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นวันที่สหประชาชาติ ประกาศเป็นวันป้องกันการจมน้ำโลก โดยสาเหตุที่ต้องประกาศวันนี้เพราะช่วงนี้จะมีฝนตกน้ำหลาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเด็กจมน้ำจึงมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกัน และเพิ่มความระมัดระวัง
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้จากมีเด็กเสียชีวิต ปีละ 1,500 คน เหลือปีละ 615 คน แต่ตัวเลขก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องมีการขับเคลื่อนกันต่อ เพื่อให้ถึงเป้าหมาย 290 คน
เมื่อถามว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย 290 คน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีเครือข่ายจำนวนมากก็จะสามารถช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ กับทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนต่อไปได้