WHO ประกาศให้ ฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

15 ส.ค. 2567 | 03:55 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 03:55 น.

โรคฝีดาษวานรล่าสุด WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก หลังพบการแพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งได้แพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน สาธารณสุขไทย เกาะติดสถานการณ์ต่อเนื่อง ย้ำ ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อในไทย

เอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาการระบาดของโรคฝีดาษลิง (Mpox) และเสนอคำแนะนำต่อทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งสหประชาชาติ

วันนี้คณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉินได้ประชุมกันและแจ้งให้ผมทราบว่าในความเห็นของคณะกรรมการ สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และผมได้ยอมรับคำแนะนำนั้นแล้ว

นี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรต้องกังวล องค์การอนามัยโลกได้ให้คำมั่นว่าจะประสานงานการตอบสนองทั่วโลกในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากการมีอยู่ของเราในพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด, รักษาผู้ติดเชื้อ และช่วยชีวิต กีบรีเยซุส กล่าวในการแถลงข่าว

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของสหภาพแอฟริกาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาค อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ฝีดาษลิง กำลังแพร่ระบาดไปทั่วสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งเป็นที่ที่ไวรัสโรคฝีดาษลิงถูกค้นพบครั้งแรกในมนุษย์เมื่อปี 2513 และแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ

กีบรีเยซุส กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนผู้ป่วยมากกว่า 14,000 คนและยอดผู้เสียชีวิต 524 รายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปีนี้นั้นมากกว่าจำนวนผู้ป่วยในปีก่อนไปแล้ว

ขณะที่เมื่อวานนี้ (14 สิงหาคม 2567) กรมควบคุมโรคซึ่งติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยและทั่วโลกในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา คือ สายพันธุ์ (clade 2) การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ทางเพศสัมพันธ์ 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม 2567 - 10 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม 140 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2565 - 2567 มีผู้ป่วยสะสม 827 ราย เสียชีวิต 11 ราย 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรทั้ง 2 สายพันธุ์ และจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางอย่างต่อเนื่อง 

คำแนะนำในการป้องกันโรคฝีดาษวานร

1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก 

2. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน 

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร 

4. ไม่คลุกคลี หรือสัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเองเบื้องต้น หากมีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ประกอบกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันทีพร้อมยืนยันมีความพร้อมระบบการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานรทั่วประเทศ