นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธุรกิจเฮลท์แคร์ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรีพบว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยรวมส่งออกมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566-2568 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจเครื่องมือแพทย์ของฟิลิปส์ประเทศไทย ในครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 โดยกลุ่ม Image Guided Therapy (IGT) ที่เป็นเครื่องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเติบโตมากที่สุดกว่า 20% เนื่องจากได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่อย่าง Zenition ทั้งพอร์ตโฟลิโอ พร้อมอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ในเครื่อง Azurion อีกมากมาย ซึ่งฟิลิปส์มองว่าประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือประมาณอันดับ 3-4 ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (APAC)
โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจของฟิลิปส์ประเทศไทยในปี 2567 จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอโซลูชั่นส์ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปพร้อมๆ กับการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับฟิลิปส์เมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยสัดส่วนพอร์ทโฟลิโอเครื่องมือแพทย์ของฟิลิปส์ในปัจจุบัน พอร์ท์ที่ใหญ่สุดและเป็นจุดเด่นคือกลุ่มเครื่องมือที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ Cardiovascular Care ประมาณ 50%
3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จของฟิลิปส์ ประเทศไทย
"ผลงานในปี 2566 ฟิลิปส์สามารถสร้างยอดขายได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้และเติบโตแบบ Double-Digit ในปี 2567 ก็ยังคงเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไฮไลท์ผลิตภัณฑ์เด่นๆ ยังสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน Top 3 ของประเทศ ในขณะที่พอร์ทในกลุ่ม Cardiovascular Care (เครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและรักษาโรคหัวใจ) เป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุด อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Image Guided Therapy (IGT) ที่เติบโตกว่า 40% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Informatics) ก็เติบโตกว่า 40% ในปี 2566 เช่นกัน"
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ส่งผลให้แนวโน้มมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น (NCDs) และทำให้ความต้องการบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ประกอบกับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลับมาเพิ่มขึ้นเกือบเท่ากับก่อนสถานการณ์โควิด จึงส่งผลให้ภาพรวมตลาดเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นายวิโรจน์ กล่าวว่า จากผลสำรวจ Future Health Index 2024 พบว่าผู้นำด้านเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกส่วนมากเห็นว่า ความล่าช้าในการให้บริการทางการแพทย์กับผู้ป่วยกำลังเป็นปัญหาหลักในวงการสาธารณสุข สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนบุคลากร และข้อจำกัดด้านการเงิน ทำให้ผู้นำด้านเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกต่างให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรมากขึ้น ซึ่งฟิลิปส์ก็มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี AI เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง MR7700 เป็นเครื่องเอ็มอาร์ไอรุ่นล่าสุด, Ingenia Ambition MR 1.5T, Spectral CT 7500 เเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, EPIQ CVx VM 11 เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง, Azurion7 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าฟิลิปส์ในประเทศไทยยังเป็นกลุ่มโรงพยาบาล 100% สัดส่วนเฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์ประมาณ 70% และโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 30% ตลาดยังคงสามารถขยายไปได้อีกทุกส่วนในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมกว่า 90% มาจากอเมริกาและยุโรป ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของภาพรวมของธุรกิจในประเทศไทย จึงน่าจะมีความท้าทายในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในปีต่อๆ ไป ว่าจะจัดสรรมาทางสาธารณสุขลดลงหรือไม่