ในการประชุมโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2567 เรื่อง นวัตกรรมการจัดการสุขภาพอย่างยั่งยืน สู่การยกระดับบริการสาธารณสุขในยุคดิจิทัล ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขว่า สาธารณสุขพร้อมสนองนโยบายรัฐบาลใน 3 เรื่อง คือ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด, การยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
เรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์หรือเมดิคัลฮับ รวมถึงนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เรื่องการรณรงค์ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งของประชาชนและค่ารักษาพยาบาลของประเทศได้
สำหรับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัตินั้น จะต้องยึดหลัก ททท หรือ ทำทันที โดยเป้าหมายปี 2568 ของ สาธารณสุข คือ จากการให้บริการทางการแพทย์กับประชาชนในประเทศ ซึ่งเรามีประสิทธิภาพและศักยภาพที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
ดังนั้นจากนี้ไปเราจะเพิ่มศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ โดยดึงคนต่างชาติมารักษาในประเทศมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมบริการความงาม ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง และไทยเป็นอันดับที่สอง หากสนับสนุนอย่างเต็มที่และมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน คาดว่าจะสร้างมูลค่าให้กับประเทศนับแสนล้านบาท
ปลัดสธ. กล่าวด้วยว่า สธ.จะต้องมีการปรับปรุงตนเองเพื่อความยั่งยืน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการมีงบประมาณที่เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเห็นได้ชัดว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด19 เราไม่สามารถผลิตยาและเวชภัณฑ์ได้เอง จึงเป็นแนวทางที่เราจะต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมของเราเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางการแพทย์ให้กับประเทศ
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะกระจายอำนาจให้เขตสุขภาพ ยกฐานะให้เป็นนิติบุคคล เทียบเท่ากรม ให้ผู้ตรวจราชการมีอำนาจการบริหารจัดการในเขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละแห่งมีปัญหาแตกต่างกัน และทำให้สำนักงานปลัด และกระทรวงในส่วนกลางเล็กลง