ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อติดตามการดำเนินการตาม "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่" ของหน่วยบริการนวัตกรรมที่ดำเนินการโดยคลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ. ฟัน และร้านยาริญญ์เภสัช พร้อมร่วมติดตราสัญลักษณ์ใหม่ "30 บาทรักษาทุกที่"
ทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ คือ ต้องการให้มีหน่วยบริการนวัตกรรมต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลอย่างครอบคลุม เพื่อเพิ่มความสะดวก และการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงลดความแออัดให้กับโรงพยาบาลรัฐ
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยบริการนวัตกรรม และพูดคุยกับประชาชนในหลากหลายพื้นที่ ในทุกครั้งจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนกลับมาก โดยเป็นความเห็นที่ได้จากการเข้าการรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเอง เช่น ปวดฟัน อยากถอนหรืออยากอุดฟันก็สามารถพบทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมบริการได้ หากพบข้อบ่งชี้และเป็นไปตามสิทธิประโยชน์รับบริการตามที่ สปสช. และทันตแพทยสภากำหนด ก็สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทพญ.อัญชลี เวียงคำ คลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ. ฟัน เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางคลินิกฯ ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นั้น ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในพื้นที่ อ.เชียงดาว ทำให้คลินิกฯ เริ่มเป็นที่รู้จักในพื้นที่มากขึ้นด้วย
เนื่องจากประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถมารับการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนมีการบอกต่อกันในพื้นที่ทั้งในระดับเพื่อนบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง
มองว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้ารับบริการทันตกรรมของประชาชน ลดความแออัดหรือการรอคอยการรักษาในโรงพยาบาลได้ ซึ่งการเข้ารับบริการทำได้ง่ายใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็เข้ารับบริการได้ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการที่คลินิกฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 10 คนต่อวัน และมีแนวโน้มการเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น ทพญ.อัญชลี ระบุ
ด้าน ภกญ.ชญานิศ นิธิโกเมศ ร้านยาริญญ์เภสัช กล่าวว่า ทางร้านยาเพิ่งได้เข้าร่วม และเริ่มให้บริการภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในเดือนนี้เป็นเดือนแรกแต่ก็เห็นได้ว่า มีประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น
ตอบโจทย์กับเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมด้วยเพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนที่มารับบริการในร้านยาส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองและมักอยู่ในชุมชนห่างไกลจากตัวเมือง รวมถึงโรงพยาบาล โดยเมื่อประชาชนกลุ่มนี้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยมากจึงเรื่องมารับบริการที่ร้านยาแทน
นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้มีประชาชนมารับบริการที่ร้านยาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเป็นเพราะทางร้านยามีประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นด้วย ผ่านวิธีการถามประชาชนที่มาซื้อยาว่า ใช้สิทธิบัตรทองไหม และหากเข้าข่ายกลุ่มอาการตามหลักเกณฑ์บริการร้านยาคุณภาพในระบบบัตรทอง
ผู้ป่วยก็สามารถรับยาและให้คำแนะนำด้วยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่การเบิกจ่ายกับทาง สปสช. ขณะนี้ยังมีปัญหาอะไร เพราะหลังจากส่งเบิกกับทาง สปสช. ก็ได้เงินภายใน 72 ชั่วโมง ถือว่าเร็วพอสมควร
อยากให้ร้านยาที่ผ่านมาตรฐานคุณภาพ มาร่วมดูแลคนในชุมชน เชื่อว่าหากเป็นเภสัชกรอยู่แล้วการเข้าร่วมไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว อยากให้เข้ามาร่วมเป็นร้านยาในนโยบายกันเยอะๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่าย หรือขั้นตอนเนื่องจากจะมีทีมที่คอยดูแลในส่วนนี้อยู่ และหากสงสัยเพิ่มเติมสามารถโทรสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้เลย ภกญ.ชญานิศ กล่าว