รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ 6 ชนิด วินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท หัวใจ

20 ก.ย. 2567 | 09:50 น.

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ รพ.จุฬาภรณ์ ฉลองครบรอบ 18 ปี เผยความสำเร็จการผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท และหัวใจ พร้อมเปิดตัว SPECT/CT รุ่น X3 แห่งแรกของไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดเสวนาแถลงข่าวภายใต้ชื่องาน The New Frontier of Nuclear Medicine in Thailand ก้าวล้ำนำอนาคต เปิดมิติใหม่ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เปิดศักยภาพเผยความสำเร็จกับนวัตกรรมการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน 6 สารใหม่ล่าสุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจทางภาพวินิจฉัยการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์

เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี ของการจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมเปิดตัวเครื่อง " SPECT/CT" Symbia Pro.Specta รุ่น X3 เทคโนโลยีภาพวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางวิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยมาตรฐานการรับรอง Earl Accreditation 

สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และ PET/MRI แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียจากสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งยุโรป แสดงถึงการเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศและมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์กับหลายสถาบันและหน่วยงานทั่วโลก โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน

ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจรโดยเป็นศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2549 จากพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ 6 ชนิด วินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท หัวใจ

ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานการดำเนินงานด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีสร้างภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดแก่ประชาชนคนไทย

ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้มีภารกิจด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนและเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์อย่างครบวงจร ทั้งเพทสแกนและสเปคซีทีเพื่อให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหลอดเลือดหัวใจ

รวมถึงเป็นสถานที่วิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

การแถลงความก้าวหน้าการให้บริการทางการแพทย์ภายใต้การทำงานของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในวันนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของทางศูนย์ฯ ที่มุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาต่อยอดการผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพประชาชน

ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ให้กับประเทศชาติต่อไป ประกอบกับศักยภาพความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ตามพระปณิธาน

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ 6 ชนิด วินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท หัวใจ

ด้านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ประดิษฐ์ เลิศสิริสุข นักเคมีรังสี และคุณอรรถพล จันทรโท นักรังสีการแพทย์

ได้ร่วมเปิดเผยถึงพัฒนาการความก้าวหน้าและความสำเร็จในการผลิตสารเภสัชรังสีตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานมา 18 ปี ของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โดยอธิบายถึงบทบาทสำคัญของสารเภสัชรังสีว่า เป็นสารกัมมันตรังสีที่ติดฉลากกับสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติที่เหมาะสมในปริมาณเล็กน้อย

เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้สามารถนับวัดรังสีและถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค หรือใช้ทำลายเนื้อเยื่อเพื่อการรักษาโรคได้อย่างแม่นยำ โดยเทคโนโลยีการสร้างภาพในระดับโมเลกุล (Molecular Imaging) ของเวชศาสตร์นิวเคลียร์หรือการตรวจด้วยเพทสแกนในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าและนับว่ามีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคระบบประสาทและโรคหัวใจ

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ 6 ชนิด วินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท หัวใจ รวมทั้งการผลิตสารเภสัชรังสีที่มีการพัฒนาอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลที่ทันสมัยและมีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้นเพื่อก่อให้เกิดการรักษาที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลในทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์นั้นมีการผสมผสานกับข้อมูลทางกายวิภาคเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวโมเลกุลของโรคที่แม่นยำเพื่อก่อให้เกิดการวางแผนรักษาเฉพาะรายที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด สารเภสัชรังสีถูกผลิตขึ้นจากเครื่องไซโคลตรอน

จัดเป็นเครื่องกำเนิดรังสี ที่เป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้สำหรับการผลิตไอโซโทปรังสี โดยการเปลี่ยนธาตุที่เสถียรไปเป็นธาตุที่เป็นไอโซโทปรังสีสำหรับการใช้ในทางการแพทย์ เมื่อได้ปริมาณความแรงรังสีตามที่ต้องการใช้ในการผลิตสารเภสัชรังสีแล้วก็จะถูกนำส่งไปยังเครื่องสังเคราะห์สารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัติ เพื่อทำการติดฉลากไอโซโทปรังสีเข้ากับตัวยาที่มีความจำเพาะกับรอยโรคต่าง ๆ ด้วยปฏิกิริยาทางเคมี

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ 6 ชนิด วินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท หัวใจ

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการติดฉลากไอโซโทปรังสีจะเข้าสู่กระบวนการทำให้บริสุทธิ์ และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้เป็นยาฉีดโดยเข้าสู่กระบวนการควบคุมคุณภาพเพื่อตรวจสอบว่าสารเภสัชรังสีที่ผลิตได้คุณภาพตามเภสัชตำรับและปลอดภัย

ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งมีกำลังการผลิตสารเภสัชรังสีที่สูงและมีกำลังการผลิตไอโซโทปรังสีชนิดใหม่ได้หลากหลายชนิดทำให้มีประโยชน์ในการใช้ค้นคว้าพัฒนาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนที่สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ 6 ชนิด วินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท หัวใจ

มีความสำคัญต่อการช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยวางแผนการรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้มากกว่า 25 ชนิด 

ในโอกาสครบรอบ 18 ปี ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้เปิดอีก 6 นวัตกรรมความก้าวหน้าและถอดรหัสความสำเร็จของการศึกษาวิจัยในการผลิตสารเภสัชรังสี 6 ชนิดใหม่ล่าสุด ประกอบด้วย

1) 18F-Fluorocholine สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ 

2) 15O-Radiowater perfusion การใช้น้ำรังสีเพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจ และในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต 

3) 15O-gas การใช้แก๊สรังสีเพื่อตรวจประเมินภาวะหลอดเลือดสมองตีบ โดยวิธีการไม่ใช้ตัวอย่างเลือดในเครื่อง PET/MRIครั้งแรกในโลก 

4) 68Ga-ABY-025 สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดตัวรับ HER2 

5) 18F-SMBT-1 สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะระบบประสาทอักเสบ 

6) 68Ga-Pentixafor สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยตัวรับ CXCR-4