ขึ้นค่าแรง 400 ไม่เหมาะภาวะศก. แนะรัฐลุยลดค่าครองชีพ เพิ่มเงินในกระเป๋า

20 ก.ย. 2567 | 11:28 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 11:57 น.

ผู้เชี่ยวชาญชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เอื้อปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ แนะลุยลดค่าครองชีพ ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าแทน ชี้ไม่จบหากปรับขึ้นเฉพาะในกิจการไซซ์ L เชื่อลูกจ้าง ไซซ์ M ไซซ์ S ร้องขอปรับตาม ตัวเร่งปิดกิจการ จากปัจจุบันแบกต้นทุนสูงรอบด้าน สินค้านอกทุบตลาด

จากที่รัฐบาลมีเป้าหมายปรับขั้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยจะเน้นในกิจการขนาดใหญ่ไซซ์ L ที่มีลูกจ้างมากกว่า 200 คนขึ้นไปก่อน ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกิจการในไซซ์ M หรือไซซ์ S จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นลำดับถัดไปนั้น

ล่าสุด (20 ก.ย. 2567) ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ยังไม่ได้ข้อสรุปในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ปี 2567 หลังจากองค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่การประชุมครั้งก่อนหน้า กรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คนไม่มาประชุมโดยอ้างติดภารกิจ และจะมีนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 กันยายน นี้

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เวลานี้อยู่ในภาวะชะลอตัว จากช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยก็ขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน ดังนั้นควรชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน

พร้อมขยายความว่า นอกจากภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจแล้ว เวลานี้ผู้ประกอบการของไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็ปิดตัวลงไปมาก จากหลายปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งถูกสินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด จากต้นทุนต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าพลังงาน ดอกเบี้ย และอื่น ๆ หากไปเพิ่มต้นทุนในเรื่องค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ของผู้ประกอบการในภาพรวมเข้าไปอีก จะยิ่งไปกดทับ หรือเป็นตัวเร่งทำให้ปิดตัวเร็วขึ้น

“ค่าจ้าง 400 บาทต่อวันภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันมองว่ายังไม่ควรปรับขึ้น ควรจะชะลอนโยบายออกไปก่อน เพราะ 1.ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ดี ขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน 2.เอสเอ็มอีไทยปิดตัวไปเยอะ เพราะต้นทุนแพงสู้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศไม่ได้ ส่วนที่เหลืออยู่ก็เริ่มไม่ไหวแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าเวลานี้ ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าแรง”

ทั้งนี้หากรัฐบาลอยากช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใช้แรงงาน ควรมุ่งเน้นนโยบายในการลดค่าครองชีพจะดีกว่า เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมันจะทำอย่างไรดี หากสามาถลดภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ แม้ว่ารายได้ของแรงงานจะเท่าเดิม แต่หากมีค่าใช้จ่ายลดลงจะทำให้มีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น ก็เปรียบเสมือนมีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น  ซึ่งการช่วยลดค่าครองชีพต่าง ๆ ข้างต้นจะช่วยได้ทั้งภาคแรงงาน และประชาชนคนไทยในภาพรวมด้วย จากเวลานี้คนไทยมีค่าครองชีพที่สูง

สำหรับหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เฉพาะกิจการหรือโรงงานไซซ์ L แต่ยังไม่ปรับขึ้นในกิจการไซซ์ M และไซซ์ S นั้น ในข้อเท็จจริงหากกิจการขนาดใหญ่ลูกจ้างมากกว่า 200 คนขึ้นไปมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ก็จะไปบวกเพิ่มต้นทุนในราคาสินค้า ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือประชาชนที่เป็นผู้บริโภค

“ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าคนไม่ต้องการเงินดิจิทัลแล้ว  คนต้องการให้แก้ปัญหายาเสพติด แต่จริง ๆ คนบางส่วนไม่ต้องการเงินดิจิทัลมานานแล้ว แต่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ เรื่องปากท้อง รวมถึงในเรื่องการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ”

ประเด็นต่อมา  ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ที่มีอยู่ในไทยประมาณ 7 ล้านคน มีแรงงานชาวเมียนมามากที่สุด หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างเฉพาะกิจการ / โรงงานไซซ์ L ลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว หรือลูกจ้างคนไทยในโรงงานไซซ์ M และ S ก็ต้องเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้างบ้าง หากนายจ้างไม่ให้ปรับขึ้น แรงงานไม่ยอมทำงาน นายจ้างจะเอาแรงงานจากไหน จากปัจจุบันไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน