คาด 10ปี ตลาด medical tourism ไทย แตะ 2.2 ล้านล้าน

24 ก.ย. 2567 | 10:55 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 10:56 น.

Krungthai COMPASS ชี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย จะมีมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2577 เติบโตเฉลี่ยปีละ 15.7% พบปี 66 นักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical & Wellness มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุดที่ 99,770 บาทต่อคน

Krungthai COMPASS มองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังมีศักยภาพในการเติบโต โดยคาดว่า ปี 2567 ธุรกิจจะขยายตัวในกรอบ 8-12%YoY และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในกรอบ 6-10%YoY ในปี 2568 จากปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งตามโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ยังส่งผลอยู่ ท้งความต้องการการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนไข้และอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น

ขณะที่การพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง หรือที่เรียกว่า การแพทย์มูลค่าสูง เช่น การแพทย์แม่นยำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวเต็มที่ของกลุ่ม Medical Tourism

คาด 10ปี ตลาด medical tourism ไทย แตะ 2.2 ล้านล้าน

"ช่วงครึ่งแรกปี 2567 รายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ที่ 7.2%YoY หลังทยอยปรับฐานในปี 2566 เนื่องจากอานิสงส์จากการรับรักษาโควิดทยอยหมดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นรักษาคนไข้ชาวไทยหดตัวเกือบทุกแห่ง และทำให้ภาพรวมรายได้ของกลุ่มนี้หดตัวราว 14.1%YoY"

 

ขณะที่รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นรักษาคนไข้ต่างชาติยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมรายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2566 หดตัวเล็กน้อยเพียง 0.6%

ขณะที่ ข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical & Wellness เป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด ที่ 99,770 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2562

คาด 10ปี ตลาด medical tourism ไทย แตะ 2.2 ล้านล้าน

ดังนั้น กลุ่ม Medical Tourism ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของโรงพยาบาลเอกชน โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าชาวอาเซียน จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ที่จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย

 

จากความเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี พร้อมทั้งประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มากถึง 50 แห่ง และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะ 5-10 ปี ข้างหน้า

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2577 เติบโตเฉลี่ยปีละ 15.7% (CAGR ปี 2567-2577) 

คาด 10ปี ตลาด medical tourism ไทย แตะ 2.2 ล้านล้าน

ปัจจัยท้าทายของธุรกิจ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ได้แก่

  1. การแข่งขันสูง จากผู้ประกอบการในประเทศทั้งรายเดิมและรายใหม่ และการแข่งขันจากการช่วงชิงการเป็น Medical Hub ของประเทศในภูมิภาค
  2. ต้นทุนที่ยังยืนสูง ธุรกิจต้องเผชิญกับการบริหารจัดการภายใต้ภาวะต้นทุนที่ยังยืนสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า หรือต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
  3. เทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

3 ประเด็นที่ต้องติดตาม

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ที่เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม Medical Tourism ที่สำคัญ แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลายลง แต่คาดว่า ผู้ป่วยชาวจีนอาจจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ใน 1-2 ปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวต่ำ 
  2. สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์  โดยเฉพาะปัญหาสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทยมากนัก แต่ก็ถือเป็นประเด็นที่ยังต้องจับตา 
  3. นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาล เป็นประเด็นที่ต้องจับตาถึงความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบาย Medical Hub ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น