ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2567 จากการประเมินของ ttb analytics ระบุว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย จะสร้างรายได้กว่า 3.22 แสนล้านบาท ขยายตัว 4% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3.14 แสนล้านบาท แม้จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติแบบ 100% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ตัวเลขการเติบโตกว่า 20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณบวกที่น่าจับตา และโอกาสของประเทศไทยมีมากขึ้นเมื่อการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical Tourism ไทยได้รับการยอมรับจากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย
ขณะที่ Allied Market Research ระบุว่า Medical Tourism ของโลก ซึ่งมีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ล้านล้านบาท ในปี 2570 ขณะที่ประเทศไทยครองส่วนแบ่งในสัดส่วนราว 9% หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 แสนล้านบาทในปี 2570
โดยกลุ่มผู้ที่มาใช้บริการหลัก ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา,สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ตามมาด้วยกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และประเทศแถบยุโรป ที่มาใช้บริการรักษาแพทย์เฉพาะทาง, Health & Wellness และกลุ่มที่มาพำนักระยะยาว (Longstay) ทำให้บิ๊กเนมในธุรกิจต่างชิงปักธง “ศูนย์แพทย์เฉพาะทาง” เพื่อใช้เป็นจุดขาย สร้างความแตกต่าง ทำให้ดีกรีการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนร้อนระอุขึ้นทันที
ดร.นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่เข้ามารองรับสังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้นรพ.ธนบุรี บำรุงเมือง จะใช้กลยุทธ์ให้บริการเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หลีกเลี่ยงการให้บริการในลักษณะองค์รวมที่คล้ายกับรพ.อื่น โดยในปีนี้จะเน้นการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นหลายสาขา ด้วยความร่วมมือจากคณะแพทย์ในระดับประเทศและนานาชาติ
“จุดแข็งของรพ.ธนบุรี บำรุงเมือง คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ในย่านเยาวราช สำเพ็ง ซึ่งมีประชากรหนาแน่น มีพื้นที่กว้างขวาง ทันสมัย และมีทีมบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางรวม 500-700 คน สามารถให้บริการความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ได้หลากหลาย รองรับกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับ
ล่าสุดรพ.ธนบุรี บำรุงเมืองได้ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด เพื่อยกระดับความเป็นเลิศในด้านการแพทย์ ขยายบริการรักษาโรคหลอดเลือดให้แก่ประชาชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับความนิยมมีผู้มาใช้บริการจำนวนมากทั้งชาวยุโรป เอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ศูนย์รักษาแผลเบาหวาน ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร ศูนย์กระดูกและข้อ เป็นต้น”
ปักหมุดศูนย์มะเร็ง-หัวใจ
ขณะที่นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า ในปีนี้รพ.จะใช้งบลงทุนราว 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแรงและรายได้เพิ่ม ผ่านการจับมือโรงพยาบาลเครือข่ายและพันธมิตร ยกระดับขยายบริการทีมแพทย์เฉพาะทางถึงระดับตติยภูมิ ครอบคลุมทั้งโรคยากและโรคเฉพาะทาง
รวมทั้งการขยายธุรกิจนอกโรงพยาบาล เช่นการเปิด Jin Wellness by THG ณ สยามพารากอน, คลินิกเอาท์เล็ท 2 แห่งในภาคใต้, ศูนย์แพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็ง 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สิริเวช จันทบุรี ในปลายปี 2567, รพ.ธนบุรี ตรัง และ รพ. อุบลรักษ์ อุบลราชธานี ในปี 2568
“4 เทรนด์ลงทุนของรพ.เอกชนไทย ได้แก่ 1.ลงทุนรองรับผู้ป่วยต่างชาติ 2. ลงทุนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 3.ลงทุนศูนย์แพทย์เพื่อรักษาโรคยากและโรคเฉพาะทาง และ 4.ลงทุนด้านเวชศาสตร์ป้องกัน”
อย่างไรก็ดี THG เล็งเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจศูนย์แพทย์เฉพาะทาง จึงได้เดินหน้าขยายการลงทุน โดยปรับเปลี่ยนชื่อจากบริษัท ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด เป็นบริษัท ธนบุรีเสริมรัฐ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจรับจ้างเหมาบริหารศูนย์หัวใจให้แก่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทำหน้าที่จัดหาทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเพื่อทำการรักษาผ่าน 3 โครงการได้แก่ คลินิกศูนย์หัวใจรพ.ธนบุรี ทวีวัฒนา, คลินิกศูนย์หัวใจ รพ.พัทลุง และศูนย์หัวใจ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานด้วย
ชูความเป็นเลิศด้านการแพทย์
ทั้งนี้นายแพทย์สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สำหรับรพ.วิมุต เปิดให้บริการเฉพาะทางมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก่อนเปิดตัวคลินิกเฉพาะทาง 4 คลินิกอย่างเต็มตัว ได้แก่ คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
โดยจุดเด่นที่แตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นคือมีคุณหมอรุ่นใหม่ เชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะทาง เพราะแต่ละโรคมีอุปกรณ์ตรวจรักษาไม่เหมือนกัน โดยประสบการณ์คุณหมอถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันสำหรับการรักษา เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์การรักษาผู้ป่วยในสมัยนี้ที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย
เช่นเดียวกับด้านนายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีคลินิกเฉพาะทางในบางโรคจะแตกต่างกัน และการรักษาเฉพาะทางบางโรคจะมีไม่กี่แห่งในประเทศไทย เช่น กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบลำไส้ และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถใช้เครื่องมือตรวจผู้ป่วยได้ก็มีไม่มาก ส่วนโรคไซนัสก็มีความซับซ้อน การผ่าตัดแผลเล็กก็ทำไม่ได้ทุกโรงพยาบาล เรียกได้ว่ามีแพทย์อยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น
“ตอนนี้ทุกๆ ปีจะมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการมีแพทย์เฉพาะทางจะให้ผู้ป่วยรู้สึกดีมากขึ้น และการขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลตอนนี้ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการตรวจโรคยากที่ซับซ้อน ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในการรักษามากขึ้น” นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวให้ความคิดเห็น
ขณะที่นายแพทย์เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า รพ.กรุงเทพเปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ The da Vinci Xi ก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่นำเข้าเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา โดยผ่าตัดผู้ป่วยแล้วกว่า 200 เคส ช่วยยกระดับทางการแพทย์ได้มาก แต่เทคโนโลยีที่มีเสถียรภาพอย่าง The da Vinci Xi มีอยู่ไม่มาก คาดว่าในประเทศไทยน่าจะมีเพียง 7 เครื่อง ในขณะที่โรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ก็ต่างนำเข้าหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดเช่นกัน แต่ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่มีไว้ผ่าตัดเฉพาะกลุ่มโรคซับซ้อน
จ่อขยายรับ Medical Tourism
ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ผู้บริหาร “SIRIRAJ H SOLUTIONS” ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการ กล่าวว่า SIRIRAJ H SOLUTIONS เปิดให้บริการ 16 คลินิก รองรับผู้มาใช้บริการทั้งคนไทยและต่างชาติ ครอบคลุมใน 5 ด้านได้แก่ 1.คัดกรองสุขภาพเชิงลึก 2.ฟื้นฟูศักยภาพ 3. ดูแลเชิงป้องกัน
4. ชะลอความเสื่อม 5. เสริมสร้างสมดุล อาทิ ศูนย์ถันยรักษ์, คลินิกฟื้นฟูกายภาพ, คลินิกอายุรศาสตร์ทั่วไป, คลินิกเลเซอร์ผิวหนังและความงาม ฯลฯ และในอนาคตมีแผนขยายเพิ่มคลินิกดูแลผู้สูงอายุ และคลินิกเท้า เป็นต้น เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยเกษียณและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อรองรับ Medical Tourism ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย
คลินิกกระทบกราวรูด
อย่างไรก็ดีการรุกขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อใช้เป็นจุดขายในการดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่หลากหลาย ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากผนวกเทคโนโลยีที่ลํ้าสมัยที่มีอยู่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ย่อมส่งผลกระทบต่อคลินิกเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น คลินิกความงาม, คลินิกกระดูกและข้อ ,คลินิกแพทย์แผนไทย, คลินิกทันตกรรม ฯลฯ
“ด้วยชื่อและแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ แม้ราคาจะสูงกว่าแต่คนส่วนใหญ่ยังยอมลงทุนใช้จ่ายเรื่องของสุขภาพ ส่งผลให้ลูกค้าหันไปใช้บริการศูนย์แพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากกว่าใช้บริการคลินิกขนาดเล็กหรือคลินิกห้องแถว ทำให้คลินิกเหล่านี้ได้รับผลกระทบลูกค้าลดลง และบางรายเลือกที่จะปรับลดราคาลงเพื่อให้แข่งขันได้ แต่ในระยะยาวคลินิกเหล่านี้ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะขาดทุน” คลินิกความงามแห่งหนึ่งในย่านบางกะปิกล่าวแสดงความคิดเห็น
เช่นเดียวกับทันตแพทย์หญิง ผู้บริหารคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่งในย่านลาดพร้าว กล่าวว่าปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการทำฟันเฉลี่ย 4-5 รายในวันธรรมดา และ 7-10 รายในวันหยุด ซึ่งถือว่าปริมาณค่อนข้างน้อยลงอย่างมาก หากเทียบกับในอดีต ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงการหันไปใช้บริการในศูนย์ทันตกรรมของรพ.ขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะสามารถเบิกค่ารักษาตามหลักเกณฑ์ของประกันสังคมได้เช่นกัน แต่รพ.ขนาดใหญ่ก็มีความน่าเชื่อถือและมีบริการที่ครบครัน สะดวกสบายมากกว่า แม้ราคาจะแตกต่างกัน 20-30%