3 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กทม. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการประชุมร่วมเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลในประเทศไทย ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลกและรัฐบาลไทย
ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการสร้างหลักประกันสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนทุกคน ยกระดับระบบสุขภาพของประเทศให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยให้การเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยความสะดวก ลดขั้นตอน ลดความแออัด
ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่จะทำให้ระบบสุขภาพเชื่อมโยงกันได้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เพราะต่อไปข้อมูลสุขภาพจะเป็นของประชาชน
อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถนำข้อมูลสุขภาพไปใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมด้านการรักษาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ นำไปวิจัย พัฒนา และต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับประเทศต่อไปได้
การประชุมครั้งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา (ร่าง) พ.ร.บ.สุขภาพดิจิทัล ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลดช่องว่างทางดิจิทัล ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการฯ นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2567 เพื่อเป็นเวทีสำหรับสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในการบริหารกลไกธรรมาภิบาลสุขภาพดิจิทัลแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน และหาแนวทางสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพให้กับประชาชน
โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย Prof. Dr. Alain Labrique ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลสุขภาพและนวัตกรรม สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และ Mr. Mark Landry เจ้าหน้าที่โครงการองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย อนุกรรมการกำกับทิศแผนงาน Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems Implementation in Thailand และผู้เชี่ยวชาญ จาก 20 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมรวม 100 คน