กรมการแพทย์แผนไทย เปิดวิธีกินเจให้ห่างไกลโรค NCDs 

07 ต.ค. 2567 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 09:07 น.

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ห่วงใย ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เผยเคล็ดลับการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ห่างไกลโรคช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ

เทศกาลถือศีลกินเจเป็นหนึ่งในประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยจะปฏิบัติตนด้วยการรักษาศีล ปฏิบัติตามหลักธรรม และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุนโดยอาหารเจส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารกลุ่มจำพวกแป้งและไขมันเป็นหลัก หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ไขมันในเลือดสูง 

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีหลักการดูแลสุขภาพช่วงเทศกาลถือศีลกินเจโดยแนะนำให้รับประทานพืชผักสมุนไพรใกล้ตัวในผู้ป่วยกลุ่มอาการดังกล่าว เช่น กระเจี๊ยบแดง บัวบก ใบเตย ตะไคร้ มะระขี้นก ผักเชียงดา ชะพลู ตำลึง และ ตำรับตรีผลา เป็นต้น

สำหรับการรับประทานอาหารเจมีข้อพึงระวังในผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังพักฟื้นร่างกาย ไม่เหมาะที่จะรับประทานอาหารเจ เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อมาซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์เพราะเป็นช่วงที่ต้องการสารอาหารให้ครบถ้วนในการเจริญเติบโต

นอกจากหลักการเลือกรับประทานอาหารเจแล้วควรออกกำลังกาย ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ในช่วงเทศกาลกินเจ พร้อมทั้งทำจิตใจให้สงบดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรมก็จะช่วยให้ท่านมีสุขภาพกาย ใจ ที่แข็งแรง ในช่วงเทศกาลกินเจ

ด้านนายสมศักดิ์ กรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ดังนี้

โรคความดันโลหิตสูง : สมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิต ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง บัวบก ใบเตย และ ตะไคร้ 

โรคเบาหวาน : ควรรับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ได้แก่ มะระขี้นก เนื่องจากในมะระขี้นกมีสาร charantin สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และเสริมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดอื่นที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ เช่น ผักเชียงดา ชะพลู ตำลึง

กรมการแพทย์แผนไทย เปิดวิธีกินเจให้ห่างไกลโรค NCDs 

เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ผัดมะระขี้นกเห็ดหอม  ยำมะระขี้นก  ในส่วนข้อควรระวังของมะระขี้นก ไม่ควรนำผลมะระขี้นกสุกมารับประทานเพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้   การนำสมุนไพรมาใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ 

โรคไขมันในเลือดสูง : แนะนำตำรับตรีผลา เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วยผลไม้ 3 อย่าง ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม สรรพคุณ ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ 

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ได้ผลออกมาในทิศทางเดียวกันคือ เมื่อคนที่มีระดับไขมันในเลือดสูง รับประทานยาสมุนไพรตรีผลา 1,000 มิลลิกรัม ต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ระดับของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล แอลดีแอล  (ไขมันชนิดไม่ดี) และโคเลสเตอรอลรวม ลดลงเห็นผลจริง อย่างมีนัยสำคัญ